คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับ รองกรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อ ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยปรับปรุงกระบวนการการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้สะดวกและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และปรับปรุงวิธีการในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้สอดคล้องกับมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย
1. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ....
1.1 กำหนดนินาม “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” “ผู้บริหารท้องถิ่น” “ประธานสภาท้องถิ่น” และ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” เพื่อให้เกิดความชัดเจน
1.2 กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
1.3 กำหนดให้ผู้เข้าชื่อสามารถยื่นคำร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่น เพื่อดำเนินการจัดทำร่างข้อบัญญัติหรือดำเนินการเชิญชวนให้ร่วมเข้าชื่อหรือขอให้ดำเนินการทั้งสองกรณี และให้ประธานสภาท้องถิ่นตรวจสอบความถูกต้องของคำร้อง หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ให้แจ้งเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง เว้นแต่ความไม่ถูกต้องเกิดจากการปลอมลายมือชื่อให้ยุติการดำเนินการ
1.4 กำหนดให้สภาท้องถิ่นตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยมีผู้แทนของผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 2 คน ร่วมเป็นกรรมการวิสามัญ
1.5 กำหนดให้ในกรณีที่ร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นต้องตกไปเพราะเหตุอายุของสภาท้องถิ่นสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาท้องถิ่น ถ้าภายใน 120 วันนับแต่วันที่เรียกประชุมสภาท้องถิ่นครั้งแรก ผู้แทนของผู้เข้าชื่อได้ยืนยันเป็นหนังสือให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อไป ให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อสภาท้องถิ่นโดยเร็ว
2. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ....
2.1 กำหนดนิยามผู้กำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทเพื่อให้ เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
2.2 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นโดยต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือถูกจำกัดสิทธิในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
2.3 กำหนดวิธีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไว้สองกรณี ดังนี้ (1) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (2) การเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อ ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
2.4 กำหนดพฤติการณ์ของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะเป็นเหตุให้ ถูกเข้าชื่อเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง เช่น มีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่ สงบเรียบร้อย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีจำนวนผู้เข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ไปใช้ สิทธิเลือกตั้ง
2.5 กำหนดให้ในกรณีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หากมีการถอนชื่อแล้วจำนวนเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแลยุติเรื่อง หากมีการถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อและมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแลประกาศให้ประชาชนทราบและให้ถือวันประกาศเป็นวันพ้นจากตำแหน่งของผู้ถูกถอดถอน
2.6 กำหนดให้กรณีการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หากมีการถอนชื่อแล้วจำนวนไม่ถึง 5,000 คน หรือไม่ถึง 1 ใน 5 ให้ผู้กำกับดูแลยุติเรื่อง หากมี การถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อและมีจำนวนเกิน 5,000 คน หรือเกิน 1 ใน 5 ให้ผู้กำกับดูแลตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการสอบสวนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด
2.7 กำหนดฐานความผิดของผู้กระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อผู้ให้เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินการเข้าชื่อหรือมิให้เข้าชื่อ เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2563