เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเหลือฝ่ายละ ร้อยละ 2 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน มีสาระสำคัญคือ 1) ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราฝ่ายละ ร้อยละสองของค่าจ้างของผู้ประกันตน 2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละเก้าสิบหกบาท 3) ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า กรณีเกิดภัยพิบัติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 4) นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ประกอบกับเพื่อให้มาตรการการลดหย่อนการออกเงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีผลใช้บังคับต่อการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนในงวดเดือนกันายายน พ.ศ. 2563 ซึ่งต้องนำส่งภายในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน จึงเห็นควรนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ในการประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ปี พ.ศ. 2563 โดยให้นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ ร้อยละ 2 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับงวดค่าจ้างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2563 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อของตลาดในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานพิจารณาแล้ว เพื่อประโยชน์ของนายจ้างและผู้ประกันตน หากกำหนดให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมโดยเริ่มตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งจะต้องชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 จะก่อให้เกิดภาระแก่นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่จะต้องมาขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินคืนในงวดค่าจ้างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ประกอบกับเพื่อเป็นการให้ระยะเวลาแก่หน่วยงานภาคเอกชนที่มีหน้าที่ดำเนินการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการลดหย่อนการออกเงินสมทบดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงพิจารณาระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2563