คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรมาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีข้อสังเกต รวม 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 2) การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อให้เกิดความไม่ป็นธรรมและมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ และ 3) การแก้ไขเพิ่มเติมและการบังคับใช้กฎหมาย
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ในขณะนั้นสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไป พิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
1. ความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กค. และ มท. ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ต้องประกาศใช้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 18 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความแตกต่างจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้จัดเก็บในอดีต ได้มีกฎหมายกำหนดทั้งในส่วนของนิยามของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้เสียภาษี การกำหนดฐานภาษี การคำนวณมูลค่าฐานภาษีและค่าภาษี รวมถึงขั้นตอนและกระบวนการทางปฏิบัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินฯ และกฎหมายลำดับรองฉบับต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความเป็นธรรมทางภาษีสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
2. การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อปท. แต่ละแห่งได้กำหนดเองทำให้ฐานภาษีไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษี และเกิดความลักลั่นในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จึงได้จัดเก็บจากฐานมูลค่าทรัพย์สินที่คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ประเมินโดยกรมธนารักษ์ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งแก้ไขข้อบกพร่องของภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกยกเลิกไป และผลจากการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สินจากภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมซึ่งเก็บภาษีจากค่าเช่า และภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งเก็บภาษีจากราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 มาเป็น การจัดเก็บภาษีจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน จะส่งผลให้ อปท. มีรายได้รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ภาระภาษีของผู้เสียภาษีแต่ละรายจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยชำระในอดีต โดยจะมีภาระภาษีทั้งเพิ่มขึ้น ลดลง หรือใกล้เคียงกับภาระภาษีเดิม ดังนั้น การพิจารณาผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการ และ อปท. จึงไม่ควรพิจารณาผลกระทบเปรียบเทียบเป็นกรณีเฉพาะราย แต่ควรพิจารณารายได้ในภาพรวมเป็นสำคัญ
3. การแก้ไขเพิ่มเติมและการบังคับใช้กฎหมาย กค. และ มท. ได้เตรียมการเพื่อรองรับและแจ้งให้ อปท. รับทราบ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายในเดือนพฤศจิกายน 2561 แล้ว เพื่อให้ อปท. และประชาชนผู้เสียภาษีมีระยะเวลาในการเตรียมตัวซึ่ง กค. และ มท.ได้จัดให้มีประชาสัมพันธ์และให้ความรู้อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี ตั้งแต่การจัดทำคู่มือ สื่อประชาสัมพันธ์ การนำหลักการกฎหมายลำดับรองมาให้ความรู้แก่ อปท. ทั่วประเทศ ตลอดจนประชาชนและผู้ประกอบการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2563