คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยพบว่าปัญหาการกระทำทุจริตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการและสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่เกิดจากการกระทำทุจริตในหลายขั้นตอน ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 และเอกสารแนบท้ายประกาศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น
การบริหารงบประมาณ
รายละเอียด
เปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจ/ผู้รับผิดชอบในการบริหารงบประมาณของโครงการ
จากเดิม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
เป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่งผลให้วิธีการบริหารงบประมาณต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบและข้อบังคับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติเป็นสำคัญ
การเบิกจ่ายงบประมาณ
รายละเอียด
ปรับปรุงวิธีการจ่ายเงินโดยให้ใช้ระบบการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านบัญชีธนาคารและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นการลดการถือครองเงินสด
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ถึงแม้กรณีการทุจริตตามกรณีศึกษาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงได้พิจารณาประเด็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริตและได้มีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ระบบการจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่การเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณ และการอนุมัติโครงการ เช่น
1) ไม่มีแนวทางการวิเคราะห์หรือการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตในโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. กำหนดแนวทางหรือรูปแบบการวิเคราะห์และการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
2) ความเสี่ยงจากการอนุมัติโครงการในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เช่น การอนุมัติโครงการให้แก่ผู้ใกล้ชิดกับคณะกรรมการกองทุนระดับท้องถิ่น เป็นต้น
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่พิจารณาความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนได้
3) ไม่มีแนวทางการวิเคราะห์ผลลัพธ์การใช้งบประมาณโดยเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ใช้ไป (Cost-Benefit Analysis) ทำให้โครงการบางอย่างอาจไม่มีความคุ้มค่า
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. วางแนวทางการดำเนินการวิเคราะห์ที่ไม่ซับซ้อนเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการ โดยพิจารณาทั้งมิติด้านการเงินและมิติเชิงสังคม และความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
4) การอนุมัติแผนงาน/โครงการไม่เชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ แนวทาง และวิธีการในแผนระดับท้องถิ่น เช่น แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนสุขภาพชุมชน เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นส่วนหนึ่งในแบบคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการอนุมัติโครงการที่ผิดวัตถุประสงค์หรือซ้ำซ้อนกับการดำเนินการของหน่วยงานอื่น
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่พิจารณาอนุมัติแผนงาน/โครงการ โดยต้องเชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ แนวทาง และวิธีการที่ปรากฏในแผนระดับท้องถิ่น และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในแบบคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ
2. ระบบการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้งบประมาณ เช่น
1) ผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ความรู้ซักซ้อมความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
2) เจ้าหน้าที่ขาดความตระหนักและมีความจงใจ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเพื่อกระทำการทุจริต
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ มท. มีหนังสือเวียนเพื่อเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ผู้ปฏิบัติ รวมทั้งชี้ให้เห็นโทษที่จะได้รับหากมีการทุจริต
3) คณะกรรมการกองทุนฯ ขาดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ส่งผลทำให้ขาดการมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการทุจริต
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. นำข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณมาสรุปเป็นอินโฟกราฟิก และเผยแพร่ให้แก่สาธารณะ และให้คณะกรรมการกองทุนฯ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และเพื่อให้มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการทุจริต
3. ระบบการติดตามและประเมินผล และการรายงานผลการดำเนินโครงการ เช่น
1) การรายงานผลการดำเนินโครงการยังไม่ชัดเจน เช่น การรายงานข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขาดข้อมูลที่จำเป็นในการตรวจสอบ
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. และคณะกรรมการกองทุนฯ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพิ่มข้อมูลการรายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งกำกับติดตามให้มีการรายงานผลการดำเนินงานตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด
2) การรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. เพิ่มระบบการแจ้งเตือนการรายงานผลหรือเพิ่มช่องทางการรายงานผ่านทางระบบออนไลน์ และให้ สปสช. งดการสนับสนุนงบประมาณในกรณีที่หน่วยงานไม่รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
3) ขาดช่องทางการรายงานผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้วยภาพถ่ายหรือภาพวีดิทัศน์
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. ปรับปรุงระบบการรายงานผลการดำเนินแผนงาน/โครงการ ควรมีการรายงานด้วยภาพถ่ายหรือวีดิทัศน์ภาพการดำเนินการจริง
4) ขาดช่องทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการเข้ามามีส่วนร่วมประเมินผลโครงการ
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ให้ สปสช. กำหนดแนวทางที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการสามารถร่วมประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ และให้ สปสช. เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2563