เรื่อง รายงานสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 (23rd Meeting of the ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC Council) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 (23rd Meeting of the ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC Council) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เห็นชอบต่อ ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
1. สนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและแนวคิดหลัก “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” และแผนงานสำคัญสำหรับประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ความแน่นแฟ้น และการแสวงหาผลประโยชน์จากโอกาส การส่งเสริม อัตลักษณ์อาเซียนและความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในด้านสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอาเซียน และการเพิ่มพูนขีดความสามารถและประสิทธิภาพทางสถาบันของอาเซียน
2. รับรองถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 และเห็นชอบให้เสนอเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่อผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) เอกสารที่เสนอเพื่อรับรอง คือ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน และ 2) เอกสารเพื่อรับทราบ คือ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสภาอาชีวศึกษาและ การฝึกอบรมแห่งอาเซียน และรายงานของคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36
3. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการประเมินผลแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. 2025 ในระยะครึ่งแผน และให้เสนอผลการประเมินดังกล่าวต่อผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ในเดือนพฤศจิกายน 2563
4. รับทราบรายงานของเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเกี่ยวกับความก้าวหน้าในประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องบูรณาการระหว่างสาขาและระหว่างสามเสาของประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้หยิบยกประเด็นสำคัญแถลงต่อที่ประชุมฯ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และควรเพิ่มการรับรู้และสร้างการยอมรับต่อวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งควรมีการพัฒนากรอบการดำเนินงานหรือเวทีที่เป็นทางการสำหรับการประชุม ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียน
การประชุมคณะรัฐมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในครั้งต่อไป (ครั้งที่ 24) จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 ณ กรุงโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามหรือผ่านระบบการประชุมทางไกล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับหรือข้อสังเกตจากการประชุม เช่น ประเทศไทยได้มีโอกาสนำเสนอมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาด้านสวัสดิการสังคมและการสังคมสงเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผ่านการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การผลักดันนโยบายระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความร่วมมือต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติ เช่น ด้านสิทธิสตรีและเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และด้านสาธารณสุข
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2563