คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย
สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) จัดทำระบบ Biz Portal เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขออนุญาตกับหน่วยงานราชการผ่านระบบออนไลน์ ประชาชนสามารถยื่นคำขอได้ครบวงจรธุรกิจในครั้งเดียว กรอกแบบฟอร์มและจัดเตรียมเอกสารเพียงชุดเดียว และติดตามสถานะคำขออนุญาตตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องไปยื่นคำขอหลายหน่วยงาน ลดภาระในการเดินทางติดต่อราชการ ปัจจุบันสามารถดำเนินการครอบคลุม 25 ประเภทธุรกิจ 78 ใบอนุญาต เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านค้าปลีก ธุรกิจรีสอร์ทขนาดเล็กและโรงแรม นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ สพร. และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พัฒนาการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล (e-Document) โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่าง ๆ เช่น ข้อมูลจากเลขบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครอง การตรวจสอบการยืนยันตัวตนผ่านระบบ Digital ID รวมทั้งพัฒนาเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชนให้อยู่ในรูปแบบเอกสารดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันได้มีหน่วยงานเข้าร่วมการพัฒนาการออกเอกสารหลักฐานฯ จำนวน 33 หน่วยงาน 82 ใบอนุญาต/เอกสาร แต่อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าปัญหาอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ คือ กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานสามารถให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์แบบครบวงจร โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
จากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีหน่วยงานนำร่องในการพัฒนาการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล 22 หน่วยงาน มีข้อจำกัดทางกฎหมายจำนวน 84 ฉบับ โดยสามารถจำแนกตามระดับชั้นของกฎหมาย ได้ดังนี้
1.1 กฎหมายแม่บทประเภทพระราชบัญญัติ จำนวน 13 ฉบับ
1.2 กฎกระทรวง หรือประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการจัดทำหรือแก้ไข จำนวน 28 ฉบับ
1.3 ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง ที่เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะแก้ไขได้ จำนวน 43 ฉบับ
ทั้งนี้ มีประเด็นที่เป็นอุปสรรคที่กำหนดไว้ในกฎหมายและกฎระเบียบข้างต้น เช่น กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นคำขออนุญาต/เอกสารด้วยตนเอง ณ หน่วยงานผู้อนุญาตกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ยื่นชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประชาชนยังคงต้องไปชำระค่าธรรมเนียมด้วยตนเอง ณ หน่วยงาน รวมทั้งกฎหมายระบุให้ต้องลงนามด้วยลายมือชื่อต้องยื่นเอกสารสำเนาพร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องหรือมีการระบุจำนวนชุดเอกสาร
2. แนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้หน่วยงานสามารถให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์แบบครบวงจร หน่วยงานควรดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 กรอบแนวทางในการดำเนินการ
2.1.1 การระบุวิธีการขออนุญาต การกำหนดสถานที่ยื่น/ต่ออายุ ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขออนุญาต สถานที่ยื่นคำขอ การต่ออายุใบอนุญาต รวมถึงการขอรับใบแทนใบอนุญาตกรณีชำรุด เสียหายหรือสูญหาย แล้วแต่กรณี โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกวิธีหนึ่ง และให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้นกำหนดไว้
2.1.2 การชำระค่าธรรมเนียม ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการชำระค่าธรรมเนียมในการขออนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต รวมถึงการรับใบแทนใบอนุญาตกรณีชำรุด เสียหาย หรือสูญหาย แล้วแต่กรณี โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกวิธีหนึ่งทั้งนี้ ให้หน่วยงานต้องจัดทำใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ด้วย (e-Receipt) และให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้นกำหนดไว้
2.1.3 การลงนามในใบอนุญาต/หนังสือรับรอง ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการลงลายมือในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น โดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.1.4 การกำหนดวิธีการแจ้งผลการพิจารณา และการรับใบอนุญาต/หนังสือรับรอง ให้หน่วยงานอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการแจ้งผลการพิจารณาและการรับใบอนุญาต/หนังสือรับรอง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) อีกวิธีหนึ่งด้วย ทั้งนี้ การแจ้งผลการพิจารณาและการรับใบอนุญาต/หนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์ให้หน่วยงานดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ สพร. ได้กำหนดแนวทางการจัดส่งผ่านช่องทาง Digital Inbox เพื่อเป็นช่องทางในการรับใบอนุญาต
2.1.5 การระบุให้ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการที่ได้รับอนุญาต/แสดงใบอนุญาตและเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว ให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ โดยใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทนข้อความเดิมในกฎหมาย “ให้ผู้รับอนุญาตเตรียมใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถแสดงถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม” ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้เทียบเคียงกับเรื่องใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ของกรมการขนส่งทางบก ตามมาตรา 31/1 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติว่า “ในขณะขับรถในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวและต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานจราจรเมื่อขอตรวจ ในกรณีที่ผู้ขับขี่แสดงใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับขี่ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ให้ถือว่าผู้ขับขี่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว”
2.2 แผนการดำเนินการ ในการแก้ไขกฎหมายตามประเด็นข้างต้นได้กำหนดแผนในการดำเนินการ ดังนี้
2.2.1 ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะแก้ไขได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานดำเนินการจัดทำหรือแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้
2.2.2 กฎกระทรวง หรือประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานดำเนินการจัดทำหรือแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
2.2.3 กฎหมายแม่บทประเภทพระราชบัญญัติ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแก้ไขต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเชิญหน่วยงานมาชี้แจงและปรับแก้กฎหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และหากดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติแล้วเสร็จให้แก้ไขกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องภายใน 3 เดือน นับแต่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้
2.3 กฎหมายและกฎระเบียบที่ต้องจัดทำหรือแก้ไขให้แล้วเสร็จในระยะแรก นอกจากกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรค จำนวน 84 ฉบับ แล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. ได้พิจารณาลำดับความสำคัญของกฎหมายและกฎระเบียบที่ต้องจัดทำหรือแก้ไขให้แล้วเสร็จในระยะแรก พบว่า มีกฎหมายและกฎระเบียบ จำนวน 23 ฉบับ (21 ใบอนุญาต/เอกสาร) ของหน่วยงานนำร่องที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หากแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบจะสามารถให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ 3. ก.พ.ร.ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดอุปสรรคในการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) และให้สำนักงาน ก.พ.ร.นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2563