คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2563 ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ) ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 2 กันยายน 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นั้น ฝ่ายเลขานุการฯ ขอสรุปสาระสำคัญและมติที่ประชุม ดังนี้
1. ที่ประชุมรับทราบเรื่องสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.1 การแต่งตั้งผู้แทนสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เพิ่มเติมตามคำสั่งนายกรัฐมตรีที่ 29/2563 เรื่องแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 1 กันยายน 2563 และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน (2) คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาวและ (3) คณะอนุกรรมการสนับสนุนข้อมูลเศษฐกิจรายสาขา ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 1/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 1 กันยายน 2563
1.2 สถานการณ์เศษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2563 เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจทั้งด้านการใช้จ่ายและด้านการผลิต สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศพบว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมเฉลี่ยทั่วประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่การเดินทางยังกระจุกอยู่ในบางพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2563 สะท้อนจากเครื่องชี้วัดที่มีความถี่สูงพบว่ายังคงมีสัญญาณของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางภายในประเทศอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับในช่วงที่มีการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน นอกจากนี้ มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครติตและเดบิตภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตเพื่อการทำธุรกรรมออนไลน์ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
1.3 รับทราบความคืบหน้าโครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้และให้มีกลไกในการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างบูรณาการ (One Stop Service) ผ่านแนวทางแก้ไขหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ตกลงร่วมกันในรูปแบบมาตรฐาน และการกำหนดบทบาทของเจ้าหนี้หลักในการดูแลลูกหนี้และประสานกับเจ้าหนี้อื่น ประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ (1) แก้ไขหนี้เดิม อาทิ กรลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้ และ/หรือ ปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมตามศักยภาพของลูกหนี้รวมทั้งมีเวลาปลอดหนี้และการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม และทบทวนการให้ใช้วงเงินที่เหลืออยู่ (2) สินเชื่อใหม่ โดยธนาคารเจ้าหนี้ร่วมกันพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีประวัติชำระหนี้ดี มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ทั้งนี้ ในระยะแรก ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ (1) เป็นลูกหนี้ธุรกิจทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรม (2) เป็นหนี้กับธนาคารหลายแห่ง โดยในระยะแรกจะเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีวงเงินหนี้รวม 50-500 ล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาขยายขอบเขตในระยะต่อไปของโครงการ (3) มีสถานะหนี้ปกติ หรือเป็น NPL กับธนาคารบางแห่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 และ (4) ต้องไม่ถูกฟ้องคดี ยกเว้นเจ้าหนี้ถอนฟ้อง โดยกำหนดระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป และมีกำหนดการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับข้อมูลและเอกสารจากลูกหนี้ครบถ้วน
2. มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ
2.1 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว นำเสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1.1 เห็นขอบให้มีการเพิ่มสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้ผู้ลงทะเบียนจำนวน 3 สิทธิ ได้แก่ (1) เพิ่มส่วนลดค่าที่พักร้อยละ 40 จำนวน 10 คืนต่อคน (2) เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวัน โดยการใช้สิทธิในวันจันทร์ถึงพฤหัสบดีจะอุดหนุน 900 บาท ขณะที่การใช้สิทธิในวันศุกร์ถึงอาทิตย์จะอุดหนุน 600 บาท และ (3) ให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน จำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1กันยายน 2563
2.1.2 เห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็คเกจเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา เพิ่มความถี่การพักค้าง และกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มประชาชนที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายให้ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
2.2 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน นำเสนอโดยกระทรวงแรงงาน ชึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้าง ร้อยละ 50 ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับวุฒิการศึกษาปริญญาตรี สูงสุดไม่เกิน 5,750 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับวุฒิการศึกษาระดับ ปวส. และสูงสุดไม่เกิน 4,700 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ทั้งนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม มีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงาน และต้องมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ภายในระยะเวลา 1 ปี (กรณีที่ลูกจ้างลาออกในระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถหาลูกจ้างใหม่ทดแทนได้) ขณะที่ลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) มีสัญชาติไทย และ (2) อายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกินกว่า 25 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปี 2562 หรือปี 2563
2. เห็นชอบในหลักการของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย นำเสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปที่ ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 และจำกัดการใช้จ่ายต่อคนตลอดโครงการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 15 ล้านคน และกลุ่มร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไปครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ผ่านกลไกการดำเนินงานผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคม 2563
3. ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
3.1 มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนในการกำหนดแนวทางมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบและยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยให้พิจารณามาตรการรองรับตามประเภทของลูกหนี้ อาทิ มาตรการแยกตามมูลค่าหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีมูลค่าหนี้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมาตรการแยกตามกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาก่อนและหลังการระบาดของโควิด เป็นต้น
3.2 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้ประโยชน์จากกลไกของกองทุนในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยฉพาะธุรกิจ SMEs กลุ่มธุรกิจ Start up รวมทั้งกลุ่ม Smart farmer อาทิ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดความพร้อมในการปรับตัวและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและดิจิตอลในอนาคตได้
3.3 มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นให้กลุ่มคนไทยที่มีกำลังซื้อและภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งการพิจารณาให้มีการใช้ระบบทดแทนเงินสด อาทิ คูปอง หรือระบบ Smart card เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุควบคู่ไปกับการดูแลสาขาการผลิตและสาขาบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว และมอบหมายให้ศึกษาเตรียมความพร้อมในการรองรับในกรณีที่มีการเปิดให้มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างรอบคอบและรัดกุมในระยะต่อไป โดยเน้นการสร้างความพร้อมของระบบสาธารณสุขและการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วม เป็นสำคัญ