คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ และร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น – สหรัฐฯ ของการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ร่วมให้การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ทั้ง 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศลุ่มน้ำโขงและสหรัฐฯ ในการสานต่อความร่วมมือภายใต้ Lower Mekong Initiative-LMI และยกระดับความร่วมมือจาก LMI เป็นหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 การเน้นย้ำหลักการความร่วมมือที่สอดคล้องกับเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกกับวิสัยทัศอินโด – แปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Indo-Pacific Vision) อาทิ ความเท่าเทียม ฉันทามติการมุ่งเน้นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมการทำงานร่วมกันและสอดประสานกันระหว่างกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคและภูมิภาค รวมทั้งหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ
1.2 การสานต่อความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
1.3 การปรับสาขาความร่วมมือจาก 2 เสาหลัก (Nexus) เป็น 4 สาขา ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (2) การพัฒนาทุนมนุษย์ (3) การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ และ (4) ความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข อาชญากรรมข้ามชาติ
1.4 การส่งเสริมภาคพลังงานและตลาดพลังงานไฟฟ้าให้มีความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีคุณภาพ บนพื้นฐานของความโปร่งใส การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม และการกระจายแหล่งพลังงาน ผ่านการส่งเสริมหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership - JUMPP)
1.5 การตระหนักถึงความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลด้านน้ำอย่างโปร่งใสและการส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) เพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งชื่นชมความคืบหน้าการดำเนินการในช่วงปีที่ผ่านมา
1.6 การประกาศเงินสนับสนุนของสหรัฐฯ เพื่อการพัฒนาและผลักดันในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกันในอนุภูมิภาค เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กาขยายการค้า การลงทุน การบรรเทาภัยพิบัติ การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ การสนับสนุน MRC เพื่อยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลน้ำ
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น – สหรัฐฯ เป็นเอกสารที่จะรับรองเนื่องในโอกาสที่ JUMPP ครบรอบ 1 ปี โดยเนื้อหาเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำให้ตลาดพลังงานในอนุภูมิภาคมีความเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น สรุปได้ ดังนี้
2.1 การย้ำความสำคัญของหลักการความโปร่งใส การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ความหลากหลายของแหล่งพลังงาน ผู้ให้บริการและเส้นทาง และการไหลเวียนของพลังงานอย่างอิสระในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รวมทั้งความยั่งยืนและคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคง ความมั่งคั่ง และการพัฒนาของภูมิภาค โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีความต้องการพลังงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.2 การตระหนักถึงความร่วมมือที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความร่วมมืออื่น เช่น หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ ความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐฯ ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 แผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025
2.3 การดำเนินการผ่าน JUPP จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการบูรณาการทางพลังงานและตลาดพลังงานในอนุภูมิภาค การส่งเสริมให้อนุภูมิภาคสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่หลากหลายขึ้น การเสริมสร้างขีดความสามารถและความช่วยเหลือทางเทคนิคต่อประเทศสมาชิกในการพัฒนากรอบการบริหารและกฎระเบียบ และการส่งเสริมการค้าพลังงานข้ามพรมแดน
2.4 การจัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และการจัดประชุมประจำปีของผู้แทนทางการทูตและผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ภายในกรอบเวลาและตัวชี้วัด ทบทวนความคืบหน้า/อุปสรรคในการบูรณาการ และส่งเสริมการประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิก
2.5 การตระหนักถึงผลงานที่สำคัญในปีแรกของ JUMPP ที่ช่วยส่งเสริมการค้าพลังงานข้ามพรมแดน การไหลเวียนของพลังงานในอนุภูมิภาค และการเข้าถึงพลังงานทดแทน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2563