คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร และรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ช่องเดินรถด้านขวาได้ในกรณีจำเป็น และแก้ไขเพิ่มเติมน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่ไม่ต้องใช้ช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทาง จากหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม เป็นสองพันสองร้อยกิโลกรัม 2. ปรับปรุงลักษณะความผิดเกี่ยวกับการขับรถ โดยให้ความในมาตรา 43 (8) กำหนดเฉพาะความผิดกรณีการขับขี่ที่เห็นได้ว่าไม่คำถึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น และเพิ่มเติมอัตราโทษสำหรับความผิดดังกล่าวให้สูงขึ้น ส่วนการขับรถที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้แยกนำไปรวมกับเรื่องการขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจรในมาตรา 43 (3) เนื่องจากเป็นลักษณะความผิดที่ใกล้เคียงกัน
3. กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ผู้ขับขี่ หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสอบการมีสารเสพติดหรือ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือการทดสอบความเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ดังนี้
4.1 กำหนดหน้าที่ของผู้ขับขี่และคนโดยสารให้ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์ โดยมีข้อยกเว้นไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยได้ในบางกรณี
4.2 กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการโดยสารรถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ รถกระบะ รถกึ่งกระบะ หรือรถยนต์อื่นตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยหากมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการบรรทุกคนโดยสารและ การใช้อัตราความเร็วตามที่กำหนดแล้ว ให้คนโดยสารที่อยู่ในรถนั้น นอกจากคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้า ได้รับยกเว้นไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย
4.3 กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถยนต์ในขณะที่มีคนโดยสารนั่งแถวตอนหน้าเกินสองคน หรือคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าไม่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยตามที่กำหนด
4.4 กำหนดหน้าที่ของผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะหรือรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างต้องแจ้งเตือนให้คนโดยสารปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งก่อนออกรถหรือก่อนการใช้เส้นทางตามสภาพของทางที่กำหนด ทั้งนี้ หากผู้ขับขี่รถยนนต์สาธารณะหรือรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างไม่แจ้งเตือน และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นเหตุให้คนโดยสารในรถได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผู้ขับขี่นั้นต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้
4.5 กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อผ่อนผันให้รถบางประเภทหรือบางลักษณะที่ในปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกไม่ได้บังคับให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเป็นเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบสำหรับรถดังกล่าว ให้สามารถโดยสารรถนั้นโดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติเรื่องหน้าที่การรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยเจ้าของรถต้องนำรถไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากโครงสร้างของรถไม่ได้ออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อรองรับการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย เจ้าของรถก็สามารถขอรับยกเว้นจากนายทะเบียนได้ แต่ต้องใช้รถภายใต้เงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
5. ปรับปรุงมาตรการป้องกันการแข่งรถในทาง ดังนี้
5.1 กำหนดให้ผู้ที่รวมกลุ่มหรือมั่วสุมกันในทางพร้อมด้วยรถตั้งแต่ห้าคันขึ้นไป โดยมีการนัดหมายเพื่อแข่งรถในทาง หรือรถที่ใช้ในการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมกัน มีการปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้อง หรือมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามแข่งรถในทาง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อการอื่นหรือตนมิได้ร่วมหรือมีส่วนรู้เห็นว่าจะมีการแข่งรถในทาง
5.2 ปรับปรุงบทบัญญัติที่กำหนดความผิดฐานเป็นผู้จัด โฆษณา ประกาศ ชักชวน หรือดำเนินการด้วยวิธีการใดเพื่อให้มีการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว
5.3 กำหนดให้ผู้ที่รับดำเนินการปรับแต่งรถเพื่อนำไปสู่การแข่งรถในทาง ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็น หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ว่าจะนำรถดังกล่าวไปใช้ในการแข่งรถในทาง
5.4 กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดฐานแข่งรถในทาง เพื่อมิให้กระทำความผิดซ้ำอีก โดยกรณีผู้กระทำความผิดมีอายุไม่เกินยี่สิบปี ให้ศาลมีอำนาจวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังผู้นั้นไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีกตลอดเวลาที่ศาลกำหนดและกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง จะต้องชำระต่อศาลเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซ้ำ หรือกรณีผู้กระทำความผิดมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำทัณฑ์บน โดยกำหนดจำนวนเงินทัณฑ์บนเพื่อประกันว่าผู้นั้นจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก
6. ปรับปรุงมาตรการควบคุมการใช้รถที่มีสภาพไม่ถูกต้อง ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงยิ่งขึ้น โดยในกรณีที่รถมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงและหากให้ใช้รถต่อไปอาจเกิดอันตรายได้ ให้เจ้าพนักงานจราจรสั่งห้ามการใช้รถนั้นและผู้ขับขี่ต้องนำรถดังกล่าวให้พ้นทางเดินรถโดยเร็วที่สุด และในกรณีที่รถมีสภาพไม่ถึงกับไม่ปลอดภัยในการใช้ ให้เจ้าพนักงานจราจรสั่งระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เจ้าของรถ ผู้ครอบครองรถ หรือผู้ขับขี่นำรถดังกล่าวไปซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ใช้รถได้ไปพลางก่อน
7. กำหนดเพิ่มเติมให้ความผิดฐานขับรถในขณะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เนื่องจากหมดคะแนน ความประพฤติในการขับรถ เป็นความผิดที่พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบหรือว่ากล่าวตักเตือนได้
8. ปรับปรุงบทกำหนดโทษเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ โดยร่างพระราชบัญญัตินี้ เช่น เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานขับรถในขณะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ตามมาตรการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ ปรับปรุงบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินและไม่หยุดรถเพื่อให้ความช่วยเหลือตามสมควร เพิ่มโทษกรณีผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือในระหว่างถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่หรือถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ และปรับปรุงบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น หากกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ขับขี่รถสาธารณะหรือรถขนส่งผู้โดยสาร เป็นการกระทำความผิดซ้ำ หรือเป็นการขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือใบอนุญาตขับขี่ถูกพักใช้หรือเพิกถอน
9. กำหนดให้ศาลแจ้งคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ อันเนื่องมาจากความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก แล้วแต่กรณี เพื่อให้นายทะเบียนรับทราบคำสั่งดังกล่าว และดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
10. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง นอกจากนี้ ได้กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองตามหลักการใหม่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2563