เรื่อง การปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (แนวทางการประเมินส่วนราชการฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 โดยไม่ต้องนำผลการดำเนินงานของส่วนราชการมาประเมินตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2563
2. เห็นชอบกรอบและแนวทางการประเมินส่วนราชการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของส่วนราชการไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เห็นชอบการปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เนื่องจากการปรับรายละเอียดของตัวชี้วัด เป็นการคาดการณ์ผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งยังมีความ ไม่แน่นอนและไม่สะท้อนกับผลการปฏิบัติงานที่จะเกิดขึ้นจริง รวมทั้งไม่สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของส่วนราชการได้หากเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ในระยะที่สองหรือเกิดสภาวะวิกฤตอื่น ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างไปจากแนวทางการประเมินส่วนราชการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มีนาคม 2563 ดังนี้
แนวทางการประเมินส่วนราชการฯ
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563
1. ให้ส่วนราชการสามารถปรับรายละเอียดหรือยกเลิกตัวชี้วัดเดิมตามภารกิจหลักที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID – 19
2. ให้ส่วนราชการเสนอตัวชี้วัดใหม่ในการแก้ไขปัญหาหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19
แนวทางการประเมินส่วนราชการฯ
ตามมติ ก.พ.ร. ครั้งที่ 3/2563
ไม่นำผลการดำเนินงานของส่วนราชการมาประเมินผลตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการฯ โดย
1. ให้ส่วนราชการรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดเดิมเพื่อใช้ในการติดตาม (monitoring) แต่จะไม่นำมาประเมินผล
2. ให้ส่วนราชการถอดบทเรียนในการบริหารจัดการผลกระทบและการแก้ไขปัญหาของหน่วยงาน
3. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. สรุปบทเรียนในการบริหารจัดการผลกระทบในภาพรวมของส่วนราชการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานและให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ หากเกิดสภาวะวิกฤตในอนาคต
2. เห็นชอบกรอบและแนวทางการประเมินส่วนราชการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยเป็นการนำองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบเดิมตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ (6 พฤศจิกายน 2561) ไว้ มาจัดกลุ่มและจำแนกเป็น 2 องค์ประกอบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
2.1 กรอบการประเมิน
องค์ประกอบการประเมิน / ประเด็นการประเมิน
1. การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) น้ำหนักร้อยละ 70 จำนวน 3 – 5 ตัวชี้วัด
1.1 ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาลมติคณะรัฐมนตรี หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda KPI)
1.2 ผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ (บังคับส่วนราชการระดับกรม)
1.3 ผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญที่เป็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันหลายหน่วยงาน (Joint KPIs)
1.4 ผลการดำเนินงานตามภารกิจพื้นฐาน งานประจำ งานตามหน้าที่ ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎ หรือภารกิจในพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (Function KPI / Area KPI)
2. การประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) น้ำหนักร้อยละ 30 จำนวน 1 ตัวชี้วัด ผลการพัฒนาศักยภาพองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0
2.1 การพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัล (น้ำหนักร้อยละ 15) เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นดิจิทัล (Digitize Data) และการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูล (Sharing Data) เป็นต้น
2.2 การประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (Public Sector Management Quality Award – PMQA 4.0) (น้ำหนักร้อยละ 15)
2.2 เกณฑ์การประเมิน จะพิจารณาจากคะแนนในภาพรวมโดยแบ่งเกณฑ์การประเมินเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับผลการดำเนินงาน - คะแนนผลการดำเนินงาน (ร้อยละ)
1. ระดับคุณภาพ 90.00 – 100.00
2. ระดับมาตรฐาน
- ชั้นสูง 75.00 – 89.99
- ชั้นต้น 60.00 – 74.99
3. ระดับต้องปรับปรุง ต่ำกว่า 60.00
2.3 รอบระยะเวลาการประเมิน : 1 ตุลาคม – 30 กันยายน ของทุกปี (ปีละ 1 ครั้ง)
2.4 กลุ่มเป้าหมายในการประเมิน : ส่วนราชการและจังหวัด (สำหรับส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้นำแนวทางการประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการฝ่ายบริหารไปประยุกต์ใช้ และส่งผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีพร้อมกับส่วนราชการ)
2.5 ผู้ทำหน้าที่ในการประเมิน : เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นผู้ประเมินส่วนราชการ (ฝ่ายบริหาร) และจังหวัดในเบื้องต้น แล้วรายงานผลการประเมินต่อรัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการของหน่วยงาน และรายงานนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2563