ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพื่อเตรียมการรับมือบรรเทาปัญหาน้ำท่วม

ข่าวการเมือง Tuesday September 15, 2020 19:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพื่อเตรียมการรับมือบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,082.7605 ล้านบาทให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563 และให้พิจารณาดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้

1. ให้หน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ จังหวัด 30 แห่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ และเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น ของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นผู้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนของระเบียบและแนวทางที่เคยปฏิบัติต่อไป

2. ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงาน/โครงการอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการดำเนินการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือนกันยายน 2563 ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด รวมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

3. ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขากองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ รวมถึงสรุปผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไปด้วย

สาระสำคัญของโครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในฤดูฝนปี 2563

1. ความเป็นมา

สืบเนื่องจากการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน 2563 ตาม 8 มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับน้ำฝน ปี 2563 สำนักงานทรัพยากรน้ำ (สทนช.) พบว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 มีพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 32 จังหวัด 140 อำเภอ 366 ตำบล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่นซินลากู และจะต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นในเดือนกันยายน 2563 โดยมีพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ 54 จังหวัด 317 อำเภอ 1,566 ตำบล จากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และยังคงต้องมีการเตรียมการเพื่อรับมือพายุดีเปรสชั่นฮีโกสซึ่งจะพัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ประกอบกับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและทำให้การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2563 สามารถดำเนินการได้ตาม 8 มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับน้ำฝน ปี 2563 เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแผนงานเร่งด่วนเพื่อเตรียมการรับมือ แก้ไข และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 อีกทั้งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยได้ดำเนินการสำรวจตรวจสอบแผนงาน/โครงการเร่งด่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สามารถสรุปแผนงานโครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 ดำเนินการโดย 3 กระทรวง 6 หน่วยงานและจังหวัด 30 แห่ง วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,082.7605 ล้านบาท

2. วัตถุประสงค์

1.1 เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยแล้งและน้ำท่วม

1.2 เพื่อสนับสนุนด้านการเกษตร เช่น เกษตรแปลงใหญ่ และด้านการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน

1.3 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยในระดับชุมชน

1.4 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

3. พื้นที่ดำเนินการ

พื้นที่ทั้งประเทศ

4. แนวทางการดำเนินการ

1. เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและทางราชการ

2. เป็นโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที โดยให้หน่วยงานที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจัดทำแบบรูปรายการ และประมาณราคาค่าก่อสร้าง (ปร.4 ปร.5) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางกำหนด

3. ให้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโดยพิจารณาแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการขอรับจัดสรร

5. แผนงาน/โครงการที่เห็นควรเสนอขอรับการสนับสนุบงบกลางปี 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

สทนช. ได้สรุปโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 60 จังหวัด ที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการเร่งด่วนในปี 2563 ที่สามารถแก้ไข และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำได้อย่างทันท่วงที และแผนงานที่มีสถานะพร้อมดำเนินการได้ทันที จำนวนทั้งสิ้น 9 โครงการ งบประมาณรวม 5,082.7605 ล้านบาท จำแนกตามหน่วยงาน จำนวน 6 หน่วยงานและจังหวัด 30 แห่ง ดังนี้

ลำดับ หน่วยงาน - จำนวน (โครงการ) / งบประมาณ (บาท)

1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 1 / 706.5962

2 กรมทรัพยากรน้ำ 2 / 1,796.10

3 กรมชลประทาน 3 / 1,482.19

4 กรุงเทพมหานคร 1 / 340

5 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 1 / 23.6007

6 จังหวัด 30 แห่ง 1 / 734.2688

รวม 9 / 5,082.76

6. ประเภท/ลักษณะงาน

1. ขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม

2. ระบบประปา

3. งามซ่อมแซม/ปรับปรุง

4. ขุดแหล่งเก็บน้ำใหม่

5. บ่อน้ำบาดาล

6. ฝาย/ฝายชะลอน้ำ

7. ระบบส่งน้ำและระบบกระจายน้ำ

8. ระบบระบายน้ำชุมชน

9. ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำและกำจัดวัชพืช

10. เครื่องจักร/เครื่องมือ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ