เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นการปฏิรูปที่ 6 : การบริหารจัดการการประมงทะเล ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด การปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นการปฏิรูปที่ 6 : การบริหารจัดการการประมงทะเลของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นการปฏิรูปที่ 6 : การบริหารจัดการ การประมงทะเล ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ดังนี้ 1) การพัฒนาการทำประมง2) การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3) ประเด็นการให้ความสำคัญในเชิงนโยบาย 4) ประเด็นการบริหารจัดการ “จุดอ้างอิง” ที่มีประสิทธิภาพ 5) ประเด็นระบบ (Monitoring Control and Surveillance : MCS) ที่มีประสิทธิภาพ 6) ประเด็น IUU-Free Thailand และ 7) ประเด็นการเชื่อมโยงการบริหารงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
1. การพัฒนาการทำการประมง ฟื้นฟูแหล่งประมงและสิ่งแวดล้อมให้มีระบบนิเวศที่เหมาะสม กรมประมงได้ดำเนินการผลิตและปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและชายฝั่ง บูรณะแหล่งน้ำด้วยการขุดลอกและกำจัดวัชพืช และได้ดำเนินโครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลให้มีระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2521 - 2561 รวมทั้งสิ้น 631 แห่ง และเฉพาะในช่วงปี 2561 - 2563 ได้ดำเนินการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งสิ้น 8 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสตูล และจังหวัดปัตตานี สำหรับแผนงานที่จะดำเนินการในปี 2563 - 2565 ได้กำหนดไว้ในแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย นโยบายแห่งชาติด้านการจัดการประมงทะเล พ.ศ. 2563 - 2565 โดยเพิ่มจำนวนแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลที่มีประสิทธิภาพ อย่างน้อย 5 แห่ง/ปี
2. การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยพัฒนาทั้งการเพาะเลี้ยงน้ำจืดและชายฝั่ง ปรับปรุงพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้ดำเนินโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน โดยการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกร/ผู้ประกอบการที่ดำเนินการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แปรรูปสัตว์น้ำ มีการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และปรับปรุงระบบการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการผลิตสินค้าสัตว์น้ำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ออกสู่ผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สินค้าเกษตรปลอดภัยและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
3. ประเด็นการให้ความสำคัญในเชิงนโยบาย คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการโดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับการบริหารจัดการการประมง รวมทั้งได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) อีกทั้ง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ/คณะอนุกรรมการ ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ประเด็นการบริหารจัดการ “จุดอ้างอิง” ที่มีประสิทธิภาพ กรมประมงได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการคำนวณ (Maximum Sustainable Yield: MSY) และเสนอแนะวิธีการที่เหมาะสมในการวิเคราะห์จุดอ้างอิงของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันใช้วิธีแบบจำลองผลผลิตส่วนเกินของฟอกซ์ (Fox Surplus Production Model) ซึ่งมีความเหมาะสมเนื่องจากทรัพยากรประมงของไทยมีลักษณะเฉพาะของเขตร้อน (tropical multi-species fishery) จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์จุดอ้างอิงแบบกลุ่มสัตว์น้ำดังที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งยังได้จัดจ้างที่ปรึกษาชาวออสเตรเลีย เพื่อจัดทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเล (Fisheries Management Plan: FMP) โดยที่ปรึกษาได้ตรวจสอบขั้นตอนและวิธีการประเมิน MSY แล้ว มีความถูกต้องน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานภายใต้ FMP บนพื้นฐานของผลการประเมิน MSY ในปัจจุบัน ตลอดจนได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบเชื่อมโยงการคาดการณ์และการประเมินสภาวะการประมง เพื่อสนับสนุนระบบการตัดสินใจการบริหารจัดการการทำประมง” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น
5. ประเด็นระบบ (Monitoring Control and Surveillance : MCS) ที่มีประสิทธิภาพ กรมประมงดำเนินการตรวจสอบเรื่อ IUU list ที่ผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านระบบ Windward Intelligence โดยศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (Fisheries Monitoring Center : FMC) โดย FMC มีภารกิจในการตรวจสอบและเฝ้าระวังทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับ ศรชล. และมีการบูรณาการร่วมกันในการทำงาน โดยการส่งข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในช่องทางต่าง ๆ เช่น ไลน์กลุ่ม E - mail นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ามีระบบ Single Window @ Marine Department ในการแจ้งเรือเข้า-ออกเรือ ซึ่งข้อมูลจากระบบดังกล่าว มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบแจ้งอนุญาตเข้าเทียบท่าของเรือประมงต่างประเทศ และ Port Clearance ผ่านระบบ NSW
6. ประเด็น IUU-Free Thailand ประเทศไทยมุ่งมั่นจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย 4 แนวทางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ IUU-free Thailand ภายในปี 2567 ได้แก่ 1) การดำเนินนโยบาย IUU-free Thailand อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือ การติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูล 3) การพัฒนามาตรฐานการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำ และ 4) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับของไทย ทั้งนี้ จะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนและงบประมาณต่อไป
7. ประเด็นการเชื่อมโยงการบริหารงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วยคณะกรรมการเฉพาะกิจแกไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง โดยมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะ สั่งการ และกำกับดูแลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และแรงงานในภาคประมงให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งได้มีการพิจารณากลั่นกรองการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง การบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการทางกฎหมายและเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายรวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมาย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2563