การเจรจาจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement: VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT)

ข่าวการเมือง Tuesday September 15, 2020 19:41 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเจรจาจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement: VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)

คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อกรอบการเจรจาการทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement: VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade : FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (European Union : EU)

2. เห็นชอบท่าทีการเจรจาการทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)

3. เห็นชอบหลักการในการดำเนินการตามกรอบการเจรจาการทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)

4. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย ในการเจรจาการทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU

สาระสำคัญ

1. กรอบการเจรจาจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

(1) การกำหนดคำนิยามและกรอบสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทย

(2) กำหนดการรับรองแหล่งที่มาของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ประเทศไทยส่งออกสู่ตลาดสหภาพยุโรป

(3) การปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติในการรับรองแหล่งที่มาของไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างภาระต้นทุนที่ไม่เหมาะสม และอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าของสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยให้มากที่สุด เพื่อขยายการส่งออกสินค้าประเภทนี้ของไทยอย่างยั่งยืน

(4) มีมาตรฐานการป้องกันและเยียวยาสำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม้ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบการทำ VPA

(5) ให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

(6) ให้มีมาตรการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป เช่น การสนับสนุนจากสหภาพยุโรปให้ใช้สินค้าไม้ของประเทศไทย ผ่านทางการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Procurement) การเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมไม้ของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น

(7) ให้มีการเจรจาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในภาพรวม

2. ท่าทีการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

(1) การเจรจาจะต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด

(2) การเจรจาจะใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ หากจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายหรือตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ จะกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย และสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยต้องไม่ลิดรอนสิทธิ์ของคนไทยรวมทั้งไม่เป็นการกีดกันทางการค้า

(3) มีมาตรการคุ้มครองหรือลดหย่อนพิธีการทางศุลกากรอำนวยความสะดวกให้กับ ผู้ส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากไทยไปยังสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในระหว่างที่ประเทศไทยยังจัดทำข้อตกลงดังกล่าวและหลังจากที่การเจรจาสำเร็จลุล่วง

3. หลักการในการดำเนินการตามกรอบการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 โดยคณะกรรมการการเจรจาการทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU) แต่งตั้งโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นคณะผู้แทนประเทศไทยในการประชุมเจรจาเพื่อพิจารณาภาคผนวกที่จะใช้ประกอบข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจฯ

4. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำข้อตกลง VPA

(1) เมื่อข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) สำเร็จจนประเทศไทยได้รับสิทธิในการออกใบรับรองเฟล็กที (FLEGT License) จะช่วยให้ผู้ส่งออกสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยสามารถส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปได้สะดวกและมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาตลาดและขยายโอกาสทางการค้าของสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยในตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดของผู้บริโภคที่มีความสามารถในการซื้อสูง ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการยืนยันการประกอบการที่สอดคล้องกับธรรมาภิบาลของประเทศไทยในตลาดโลกอีกด้วย

(2) นอกจากนี้ยังเป็นการยับยั้งการผลิตสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากแหล่งที่มาที่ผิดกฎหมาย หรือจากการบุกรุกทำลายป่า โดยจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ สร้างความยั่งยืนต่อป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร ความหลากหลายทางชีวภาพ การสงวนรักษาพันธุ์พืช สมุนไพร สัตว์ป่าและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

(3) การเจรจาจัดทำข้อตกลง VPA นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการ ค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยแล้ว ยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยไปยังต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน ก็มีนโยบายมาตรการในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากต่างประเทศในลักษณะเดียวกัน

(4) เมื่อการขยายตัวของธุรกิจไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เพิ่มมากขึ้น ความต้องการแรงงานก็จะเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนชาวไทยอีกทางหนึ่ง

5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการเจรจาระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป สำหรับการจัดประชุมระหว่างประเทศและการแต่งตั้งผู้แทนรัฐบาลหรือคณะผู้แทนรัฐบาลเพื่อเข้าร่วมการประชุมในระดับต่ำกว่ารัฐมนตรี ดังนี้

5.1 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน้าคณะผู้แทนไทย หรือผู้แทน

5.2 อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทน

5.3 อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือผู้แทนผู้แทน

5.4 อธิบดีกรมศุลกากร หรือผู้แทนผู้แทน

5.5 อธิบดีกรมยุโรป หรือผู้แทน ผู้แทน

5.6 อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย หรือผู้แทนผู้แทน

5.7 อธิบดีกรมป่าไม้ หรือผู้แทน ผู้แทน

5.8 ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือผู้แทนผู้แทน

5.9 ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวง ผู้แทนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทน

5.10 ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้ผู้แทน

โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางและวางกรอบเจรจาให้รอบคอบ รัดกุม มีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์รวมทั้งเจรจา ควบคุม กำกับดูแล ให้คำปรึกษา และสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสรุปผลการเจรจา จัดทำรายงาน ข้อดี - ข้อเสีย และความเห็นของคณะกรรมการฯ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ