ขออนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แห่งที่ 2 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอดำเนินกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อน

ข่าวการเมือง Tuesday September 22, 2020 18:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโครงการจ้างก่อสร้างโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แห่งที่ 2 (โครงการฯ) คู่ขนานไปกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 49 วรรคสี่ และพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 67 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ ยธ.(กรมราชทัณฑ์) ดำเนินการตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า

1. ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังที่รักษาตัวในโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีจำนวนมากเกินกว่าความสามารถในการรองรับ ทำให้ต้องส่งผู้ต้องขังไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งภายนอกเรือนจำ ประกอบกับพื้นที่เขตจตุจักรซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการยังไม่มีโรงพยาบาลของรัฐให้บริการ ยธ. (กรมราชทัณฑ์) จึงมีแผนที่จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในอนาคตด้วย

2. โครงการฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ให้มีมาตรฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน

(2) เพื่อขยายการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังให้เพียงพอกับความต้องการของการรักษาพยาบาล

(3) เพื่อให้การรักษาแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์อันจะเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการ ครอบครัวและเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์

(4) เพื่อให้ผู้พ้นโทษมีโอกาสได้รับการจ้างงาน

ระยะเวลา

ระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2565

งบประมาณ

งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 1,758.87 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

(1) สำหรับการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แห่งที่ 2 จำนวน 1,122.22 ล้านบาท

(2) สำหรับครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์สำนักงาน ครุภัณฑ์สูทกรรม และวัสดุ/อุปกรณ์ในการดำเนินการ จำนวน 636.65 ล้านบาท สำหรับงบประมาณค่าตอบแทนในการควบคุมการก่อสร้าง จะตั้งคำของบประมาณแยกส่วนไป

สถานที่

ภายในบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพมหานคร

ลักษณะการก่อสร้าง

ประกอบด้วยอาคารจำนวน 4 อาคาร มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 124 เตียง พร้อมสาธารณูปโภคภายในโครงการ รายละเอียด ดังนี้

(1) อาคาร A (ส่วนรักษาพยาบาล) จำนวน 8 ชั้น พร้อมชั้นดาดฟ้า สูง 45 เมตร พื้นที่อาคาร 31,848.445 ตารางเมตร

(2) อาคาร B (ส่วนสนับสนุน) จำนวน 3 ชั้น พร้อมชั้นดาดฟ้า สูง 22.30 เมตร พื้นที่อาคาร 4,050.58 ตารางเมตร

(3) อาคาร C (โรงพักขยะ) จำนวน 1 ชั้น สูง 6.85 เมตร พื้นที่อาคาร 313.21 ตารางเมตร

(4) อาคาร D (ป้อมยาม) จำนวน 1 ชั้น สูง 3.45 เมตร พื้นที่อาคาร 20.35 ตารางเมตร

3. แต่โดยที่โครงการฯ เป็นการก่อสร้างโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ 60 เตียงขึ้นไป (124 เตียง) ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องจัดทำรายงาน EIA ก่อนเสนอขอความเห็นชอบดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรีตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชนกรุงเทพมหานคร (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) ได้พิจารณารายงาน EIA โครงการแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติให้กรมราชทัณฑ์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาตามโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลในรายงาน EIA เช่น ให้เพิ่มเติมแบบขยายทางเข้า – ออก ของโครงการฯ ให้ชัดเจน เป็นต้น โดย วว. จะดำเนินการแก้ไขและเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ อีกครั้ง

4. ปัจจุบันโครงการฯ ได้รับการอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันปี พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งขณะนี้ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการในปีงบฯ พ.ศ. 2563 แล้ว แต่โครงการฯ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA ดังนั้น เพื่อมิให้โครงการฯ เกิดความล่าช้าและเป็นการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ยธ. (กรมราชทัณฑ์) จึงขอดำเนินกระบวนการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แห่งที่ 2 คู่ขนานพร้อมกับการจัดทำรายงาน EIA ตามนัยมาตรา 49 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยสงวนสิทธิ์การลงนามในสัญญาไว้และจะยกเลิกการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหากการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แห่งที่ 2 ไม่ผ่านการประเมิน EIA ตามนัยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 67

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ