ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ข่าวการเมือง Tuesday September 22, 2020 18:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 30,000 ล้านบาทให้กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการลดยอดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาล และการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) รอบใหม่และการจดสรรสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญ

1. การลดยอดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาล

1.1 เหตุผลและความจำเป็น

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 8 และ 22 พฤศจิกายน 2559 และ 28 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยมียอดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563 จำนวน 24,685,394,570.29 บาท

1.2 สาระสำคัญ

เพื่อลดยอดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าวซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 24,685,394,570.29 บาท ไม่ให้สูงจนเกินไป กระทรวงการคลังจึงเห็นควรใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการลดยอดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาลของโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท ให้แก่ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจต่อไป

2. โครงการลงทะเบียนฯ รอบใหม่และการจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตรฯ

2.1 เหตุผลและความจำเป็น

การดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ ที่ผ่านมายังมีกลุ่มตกหล่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการลงทะเบียนฯ ได้ อีกทั้งโครงการลงทะเบียนฯ ได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะหนึ่ง ซึ่งอาจไม่สะท้อนความเป็นผู้มีรายได้น้อย ณ เวลาปัจจุบัน และอาจทำให้มีทั้งผู้ที่สมควรได้รับบัตรฯ แต่ไม่ได้รับบัตรฯ (Exclusion Error) และมีผู้มีบัตรฯ ที่ไม่ควรได้รับบัตรฯ (Inclusion Error) จำนวนหนึ่ง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย

2.2 สาระสำคัญ

เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการระบุตัวผู้มีรายได้น้อย และมีข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา (Dynamic Data) ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการสังคมของภาครัฐ จึงเห็นควรให้ดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ รอบใหม่ ซึ่งจากสถานการณ์ COVID-19 จึงคาดว่า จะมีผู้ผ่านคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนฯ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งให้มีงบประมาณรองรับสำหรับการจัดสรรสวัสดิการที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้มีบัตรฯ ดังนั้น เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงเห็นควรใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 10,000 ล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนประชารัฐฯ)

ผลกระทบ

1. ลดยอดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาลเพื่อให้ยอดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาลสำหรับโครงการดังกล่าวไม่ให้สูงจนเกินไป และเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ ธ.ก.ส. นำมาหมุนเวียนในการช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ

2. สามารถดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ รอบใหม่และการจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตรฯ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการระบุตัวผู้มีรายได้น้อย และมีข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา (Dynamic Data) ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการสังคมของภาครัฐ พร้อมทั้งมีงบประมาณรองรับสำหรับการจัดสรรสวัสดิการที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้มีบัตรฯ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ