คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
1. โดยที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ได้มีการใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การกำหนดขั้นตอนการเจรจาและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่ขาดความยืดหยุ่นและไม่สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการแก้ไขข้อขัดแย้งและการยุติข้อพิพาทแรงงานด้วยระบบทวิภาคี การกำหนดให้มีการจดทะเบียนองค์กรฝ่ายนายจ้างและองค์กรฝ่ายลูกจ้าง และการจำกัดสิทธิการปิดงานหรือนัดหยุดงานขององค์กรฝ่ายนายจ้างและองค์กรฝ่ายลูกจ้าง และการจำกัดสิทธิการรวมตัวจัดตั้งองค์กรของฝ่ายลูกจ้างที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีสหภาพแรงงานได้เพียงสหภาพแรงงานเดียว อันมีลักษณะเป็นการควบคุมจากภาครัฐซึ่งไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน การห้ามปิดงานหรือการนัดหยุดงาน หลักเกณฑ์การจัดตั้งและการดำเนินงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมตัวเพื่อจัดตั้งและดำเนินกิจการขององค์กรดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ตลอดจนปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐวิสาหกิจให้มีการเจราจายุติข้อพิพาทในระดับทวิภาคี ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน คุ้มครองการดำเนินการของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน และพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและหลักสากล รง. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ขึ้น
2. รง. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้โดยจัดสัมมนาไตรภาคี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 รับฟังความคิดเห็นโดยส่งแบบแสดงความคิดเห็นให้กระทรวงต่าง ๆ ที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ จำนวน 15 กระทรวง และให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 47 แห่ง และรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (www.labour.go.th) ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 และ รง. ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (www.labour.go.th) และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 (เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562) ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ?. มาเพื่อดำเนินการ
ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยมีสาระสำคัญที่ต่างไปจากเดิม ดังนี้
1. ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
สาระสำคัญ
- กำหนดระยะเวลาในการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยกำหนดให้ยื่นภายในระยะเวลา 60 วัน ก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง
- กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กระทำโดยนายจ้างกับสหภาพแรงงานซึ่งมีลูกจ้างเป็นสมาชิกเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมด มีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างทุกคน
- กำหนดให้นายจ้างนำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมาแจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
2. วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน
สาระสำคัญ
กำหนดให้ในกรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายอาจตกลงกันให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการประนอมข้อพิพาทแรงงานต่อไป หรือนำข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นไปเจรจาตกลงกันเอง หรือส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงานเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้
3. การปิดงานและการนัดหยุดงาน
สาระสำคัญ
- กำหนดให้นายจ้างอาจปิดงานหรือลูกจ้างอาจนัดหยุดงานได้โดยนายจ้างที่ประสงค์จะปิดงานหรือลูกจ้างที่ประสงค์จะนัดหยุดงานต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน
- กำหนดให้การปิดงานหรือการนัดหยุดงานในงานที่เป็นบริการสาธารณะ ฝ่ายที่ปิดงานหรือนัดหยุดงานต้องจัดให้มีบริการขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น
- กำหนดงานที่เป็นบริการสาธารณะ ได้แก่ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์หรือโทรคมนาคม บรรเทาสาธารณภัย ควบคุมการจราจรทางอากาศ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด
4. คณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงาน
สาระสำคัญ
- กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงาน ประกอบด้วยอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นกรรมการและเลขานุการ
- กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
5. สหภาพแรงงาน
สาระสำคัญ
- กำหนดให้รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งสามารถมีสหภาพแรงงานได้มากกว่าหนึ่งสหภาพแรงงาน
- อนุญาตให้ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่เป็นฝ่ายบริหารสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
- กำหนดให้สหภาพแรงงานตั้งแต่สองสหภาพแรงงานขึ้นไปสามารถรวมกันจัดตั้งเป็นสหพันธ์แรงงานได้
- กำหนดให้สหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงานไม่น้อยกว่า 10 แห่งสามารถจัดตั้งเป็นสภาองค์การแรงงาน
6. อัตราโทษ
สาระสำคัญ
ปรับอัตราโทษของความผิดในพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563