คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายพาหนะและค่าดูแลรักษายานพาหนะ พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
1. โดยที่มาตรา 42/1 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 บัญญัติให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจเคลื่อนย้ายยานพาหนะที่หยุดหรือจอดอยู่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ยานพาหนะอื่นหรือผู้ใช้ทางหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยทางหลวง โดยผู้ขับขี่หรือเจ้าของยานพาหนะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายยานพาหนะ ตลอดจนค่าดูแลรักษายานพาหนะระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว คค. จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น
2. กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.doh.go.th และ www.drr.go.th เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นด้วยแล้ว ซึ่งไม่มีประชาชนแสดงความคิดเห็น จึงไม่มีประเด็นที่จะนำมาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายพาหนะและค่าดูแลรักษายานพาหนะ พ.ศ. ?. มาเพื่อดำเนินการ
1. กำหนดให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของยานพาหนะต้องชำระค่าใช้จ่ายในกรณีที่ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน ผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทานและผู้อำนวยการทางหลวงชนบท หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงดังกล่าวได้เคลื่อนย้ายยานพาหนะของตน ตามอัตราดังนี้
ประเภท - คันละ/บาท
1. รถจักรยานยนต์ 50
2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ 1,500
3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ 1,500
4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ 2,000
5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ 2,000
6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ 2,500
7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น 2,500
2. ผู้ขับขี่หรือเจ้าของยานพาหนะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษายานพาหนะที่ถูกเคลื่อนย้ายมาในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงตามข้อ 1. ตามอัตราดังนี้
ประเภท - วันละ/บาท
1. รถจักรยานยนต์ 200
2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ 300
3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ 300
4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ 500
5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ 500
6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ 500
7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น 500
3. การนับเวลาตามข้อ 2. ให้ถือว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงเป็นหนึ่งวัน เศษของวันให้นับเป็นหนึ่งวัน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563