มาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ (เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม)

ข่าวการเมือง Tuesday September 29, 2020 17:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ (เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม) (มาตรการฯ) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและติดตาม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไป สู่การปฏิบัติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. รายงานว่า

1. ปัจจุบันสัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทำให้ฐานภาษีของประเทศแคบลง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้ของภาครัฐที่จะนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณและการสะสมหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต จึงได้มีการจัดทำมาตรการฯ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนทั้งระบบ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานทุกมิติ และเพื่อให้มีกลไกขับเคลื่อนงานรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้ พม. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการฯ และมาตรการดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการรับฟัง ความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

มิติเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 8 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. การบูรณาการระบบบำนาญ และระบบการออมเพื่อยามสูงอายุ และการปฏิรูประบบการเงินการคลังที่เหมาะสมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

เสนอร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อสร้างระบบบำนาญและการออมที่มั่นคง เพียงพอ และยั่งยืน (คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559)

2. การส่งเสริมและสนับสนุนประชากรวัยทำงาน กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่การใช้ชีวิตยามสูงอายุ

ปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 โดยส่งเสริมการสมัครสมาชิกซึ่งมีรูปแบบสอดคล้องกับอาชีพและรายได้ที่แตกต่างกัน

3. การส่งเสริมและสนับสนุนประชากรวัยทำงานกลุ่มลูกจ้างในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่การใช้ชีวิตยามสูงอายุ

จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับในรูปแบบของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

4. การขยายอายุการทำงาน

  • ขยายอายุเกษียณราชการเป็น 65 ปี เฉพาะบาง สายงาน (ไม่ครอบคลุมตำแหน่งบริหาร)
  • กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนขยายอายุการทำงานของลูกจ้าง

5. การสนับสนุนและสร้างระบบการออมทั้งแบบถ้วนหน้าและสมัครใจผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการในยามสูงอายุ

สร้างระบบการออมอย่างถ้วนหน้า และส่งเสริมการออมภาคสมัครใจในรูปแบบต่าง ๆ

6. การสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะและอาชีพทางเลือกที่ 2 ในวัยทำงานและหลังเกษียณ เพื่อใช้ประโยชน์ในยามสูงอายุ

สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะจากสถาบันและภาคธุรกิจเอกชน

7. การกระจายแหล่งการจ้างงานให้อยู่ใกล้ชุมชนชนบท

สร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และบริการไปตั้งในต่างจังหวัด

8. การจูงใจให้คนต่างชาติที่มีคุณภาพและต้องการทำงานในประเทศไทยอย่างถาวรได้มีโอกาสทำงานและพำนักในประเทศไทย

จูงใจและอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีคุณภาพสนใจและเข้ามาทำงานในประเทศไทย

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงแรงงาน (รง.) พม. กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการสjงเสริมการลงทุนและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

มิติสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย 4 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. การปรับปรุงกฎกระทรวงให้มีผลใช้บังคับให้สอดคล้อง ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากขึ้น

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

แก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวม 3 ฉบับ เช่นกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2555

2. งบประมาณในการสร้างอาคาร โครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ถนน ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น) ต้องสอดคล้องกับกฎกระทรวงที่แก้ไขแล้ว

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

ขอมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด

3. ให้มีการรายงานผลและตรวจติดตามอาคารส่วนราชการทั้งหมดว่าได้ดำเนินการแก้ไขตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 แล้ว แต่ขาดความครอบคลุมและไม่ต่อเนื่อง

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

ขอมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกับองค์กรผู้สูงอายุ คนพิการในพื้นที่ตรวจติดตามและมอบประกาศรับรองอาคารที่ผ่านเกณฑ์

4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีภารกิจในการปรับสภาพแวดล้อมบ้านผู้สูงอายุในชุมชนได้

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

ให้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย (มท.) และรายละเอียดกฎเกณฑ์เรื่องการปรับสภาพแวดล้อม บ้านผู้สูงอายุในชุมชน

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กค. กระทรวงคมนาคม (คค.) พม. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มิติสุขภาพ ประกอบด้วย 3 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. บูรณาการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการ (Operation Unit) ในการบูรณาการกิจกรรมและทรัพยากร

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

บูรณาการกิจกรรมศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลันและศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน

2. การยกระดับผู้บริบาลมืออาชีพ Formal (Paid) Care Giver

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

  • กำหนดคุณสมบัติมาตรฐาน
  • มีการสอบและออกใบอนุญาต/รับรองจากส่วนกลาง

3. การจัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพทุกอำเภอควบคู่กับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care)

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

การส่งเสริมให้โรงพยาบาล (ประจำอำเภอ) มีศูนย์ ฟื้นฟูฯ ครบทุกอำเภอภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2567)

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ พม. มท. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

มิติสังคม ประกอบด้วย 4 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

1. เพิ่มบทบาท อปท. ให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักใน

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

การบูรณาการและขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ และพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น

คณะรัฐมนตรีควรมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. กำหนดกรอบภารกิจของ อปท. ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงระบบรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนของ อปท.

2. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ?บวรวชร? (บ้าน วัด โรงเรียน วิสาหกิจ ชมรม โรงพยาบาล) ในการรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

  • ใช้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความร่วมมือจากมหาเถรสมาคมให้จัดสรรงบประมาณจากเงินบริจาคที่วัดได้รับมาใช้ในกิจกรรมรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน/วิสาหกิจด้วยการขยายผลโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น ระบบการดูแลผู้สูงอายุในเขตเมือง

3. การกำหนดให้มี ?ผู้พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ?

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

บัญญัติกฎหมายกำหนดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุในกรณีที่มีภาวะพึ่งพิงหรือสมองเสื่อมที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เพื่อทำหน้าที่จัดการทรัพย์สินและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ

4. การส่งเสริมผู้ที่มีความพร้อมให้มีบุตรและชะลอการตั้งครรภ์ของผู้ที่ไม่พร้อม

ตัวอย่างวิธีการดำเนินงาน

  • กำหนดให้หน่วยงานราชการ/เอกชน มีสถานเลี้ยงดูเด็ก
  • เพิ่มค่าลดหย่อนบุตร

หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กค. พม. รง. มท. วธ. สธ. สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ มีประเด็นเร่งด่วนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนที่ต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในทุกมิติ ได้แก่

1) การจัดทำบัญชีนวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

2) การออกระเบียบให้ อปท. ดำเนินภารกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

3) การส่งเสริมให้มีระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และ 4) การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ทั้งทักษะการทำงานและทักษะชีวิต การส่งเสริมการเพิ่มพูนและปรับเปลี่ยนทักษะการทำงานและทักษะชีวิต เพื่อเตรียมคนในวัยทำงานให้พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ (เรียนรู้ในที่ทำงานหรือออนไลน์)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ