ขออนุมัติปรับแผนการดำเนินงานทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)

ข่าวการเมือง Tuesday September 29, 2020 18:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการปรับแผนการดำเนินงานทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ในประเด็นต่าง ๆ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ ศธ. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ศธ. รายงานว่า

1. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (คณะกรรมการฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 36 ? 4/2560 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 มีมติเห็นชอบในหลักการแผนการดำเนินงานทุน พสวท. พ.ศ. 2560 - 2564 และต่อมาในคราวประชุมครั้งที่ 37 ? 1/2561 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมฯ มีมติอนุมัติในหลักการเกี่ยวกับการปรับรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ของแผนการดำเนินงานทุน พสวท. พ.ศ. 2560 - 2564 เช่น การปฏิบัติงานตอบแทนทุนของผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ในหน่วยงานภาคเอกชนและสถานศึกษาเอกชน การนับเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุนของผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเดิม เป็นต้น

2. ศธ. (สสวท.) ได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ. ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 (เรื่อง การจัดสรรทุนรัฐบาลให้แก่หน่วยงานของรัฐ) ซึ่งสำนักงาน ก.พ. เห็นด้วยในหลักการและเห็นว่า สสวท. (1) ควรมีวิธีการและเทคนิคในการกำหนดจำนวนทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และ (2) ควรมีแนวทางและระบบการบริหารและติดตามการตอบแทนทุนที่ชัดเจน นอกจากนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้พิจารณากรอบอัตราค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้รับทุน พสวท. ในประเทศแล้วเห็นชอบด้วย โดย ศธ. (สสวท.) ได้ปรับแก้ไขแผนการดำเนินงานทุน พสวท. ดังกล่าวตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ. แล้ว สรุปได้ ดังนี้

การสรรหานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเข้ารับทุน พสวท.

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2555 ? 2559 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554

  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ปลาย) โดยคัดเลือกผู้จบมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ต้น) ที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการสอบและสอบสัมภาษณ์ ซึ่งนักเรียนที่สอบคัดเลือกได้ต้องย้ายไปศึกษา ณ โรงเรียนที่เป็นศูนย์ พสวท.

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2560 ? 2564(สิ่งที่ขอปรับในครั้งนี้)

  • ระดับ ม.ปลาย โดยคัดเลือกผู้จบ ม.ต้น เข้าศึกษาในโรงเรียนที่เป็นศูนย์ พสวท. หรือสามารถศึกษาในโรงเรียนเดิม/โรงเรียนอื่นที่มีศักยภาพสูงเทียบเท่าโรงเรียนที่เป็นศูนย์ พสวท. ได้ตามความต้องการของผู้เรียน อย่างไรก็ตามนักเรียนที่ได้รับทุนจะไม่สามารถรับทุนอื่นซ้ำซ้อนและจะจำกัดจำนวนผู้รับทุนในสถานศึกษาหนึ่ง ๆ

เหตุผล

เนื่องจากนักเรียนระดับ ม.ต้น มีความนิยมที่จะเลือกศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิมหรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในระดับ ม.ปลาย

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2555 ? 2559 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554

  • ระดับปริญญาตรี (ป.ตรี) โดยรับนักเรียนจากโรงเรียนที่เป็นศูนย์ พสวท. ต่อเนื่อง และคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั่วประเทศผ่านกระบวนการสอบและการสอบสัมภาษณ์ ซึ่ง นักเรียนที่สอบคัดเลือกได้ต้องย้ายไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์ พสวท.

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2560 ? 2564(สิ่งที่ขอปรับในครั้งนี้)

  • ระดับ ป.ตรี คงเดิม

เหตุผล -

จำนวนทุนการศึกษาต่อปี

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2555 ? 2559 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554

ทุนการศึกษาในประเทศ

1) ม.ปลาย โดยคัดเลือกใหม่ จำนวน 100 ทุน/ชั้นปี

2) ป.ตรี โดยรับต่อเนื่องจากนักเรียนทุน พสวท. ม.ปลาย จำนวน 90 ทุน/ชั้นปี และรับจากนักเรียน ม.ปลาย ทั่วไปจำนวน 80 ทุน/ชั้นปี รวม 170 ทุน/ชั้นปี

3) ปริญญาโท (ป.โท) โดยรับต่อเนื่องจาก นักเรียนทุน พสวท. ป.ตรี ในประเทศ จำนวน 155 ทุน/ชั้นปี

4) ปริญญาเอก (ป.เอก) โดยรับต่อเนื่อง จากนักเรียนทุน พสวท. ป.โท ในประเทศ จำนวน 135 ทุน/ชั้นปี

ทุนการศึกษาต่างประเทศ

1. ป.ตรี-โท-เอก โดยรับต่อเนื่องจาก นักเรียนทุน พสวท. ม.ปลาย จำนวน 10 ทุน/ชั้นปี

2. ป.โท-เอก โดยรับต่อเนื่องจากนักเรียน ทุน พสวท. ป.ตรี ในประเทศ จำนวน 15 ทุน/ชั้นปี

3. ป.เอก โดยรับต่อเนื่องจากนักเรียนทุน พสวท. ป.โท ในประเทศ จำนวน 20 ทุน/ชั้นปี

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2560 ? 2564(สิ่งที่ขอปรับในครั้งนี้)

ทุนการศึกษาในประเทศ

1) ม.ปลาย โดยคัดเลือกใหม่ จำนวน ไม่เกิน 40 ทุน/ชั้นปี

2) ป.ตรี โดยคัดเลือกจาก (1) นักเรียน ทุน พสวท. ม.ปลาย และ (2) จาก นักเรียนทั่วไปและนักเรียนโครงการทุน วิทยาศาสตร์อื่น ๆ ของรัฐบาลและ เอกชน จำนวนไม่เกิน 140 ทุน/ชั้นปี และจะได้รับการสนับสนุนให้ศึกษา ต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาระดับ ป.โท และ ป.เอก

ทุนการศึกษาต่างประเทศ

1. ป.ตรี?โท-เอก โดยคัดเลือกจาก นักเรียนทุน พสวท. ม.ปลาย ที่มี คุณสมบัติตามที่ สสวท. กำหนดก่อน แล้วจึงคัดเลือกนักเรียนโครงการทุน วิทยาศาสตร์อื่น ๆ ของรัฐบาลและ เอกชนเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 40 ทุน/ชั้นปี นอกจากนี้เมื่อสำเร็จ การศึกษาระดับ ป.ตรี ผู้รับทุนสามารถ สมัครเพื่อขอรับทุนวิทยาศาสตร์อื่นของ รัฐบาลและทุนอื่น ๆ เพื่อศึกษาต่อใน ระดับที่สูงขึ้นได้

2. ป.โท-เอก คงเดิม

3. ป.เอก คงเดิม

เหตุผล

ปัจจุบันมีโครงการและทุนที่ดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จึงขอปรับลดจำนวนทุนการศึกษาในประเทศ และขอปรับเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ ระดับ ป.ตรี-โท-เอก เพื่อให้นักเรียนทุน พสวท.ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างสูงสุด

ทุนการศึกษาส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2555 ? 2559 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554

ศึกษาในประเทศ

1) ม.ปลาย 6,100 บาท/เดือน

2) ป.ตรี 7,300 บาท/เดือน

3) ป.โท 8,700 บาท/เดือน

4) ป.เอก 12,000 บาท/เดือน

ศึกษาต่างประเทศ

ใช้อัตราค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนรัฐบาล ณ ต่างประเทศของสำนักงาน ก.พ.

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2560 ? 2564(สิ่งที่ขอปรับในครั้งนี้)

ศึกษาในประเทศ

1) ม.ปลาย 9,150 บาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 3,050 บาท)

2) ป.ตรี 10,950 บาท/เดือน (เพิ่มขึ้น3,650 บาท)

3) ป.โท 12,180 บาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 3,480 บาท)

4) ป.เอก 16,800 บาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 4,800 บาท)

ศึกษาต่างประเทศ คงเดิม

เหตุผล

เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพต่าง ๆ สูงขึ้นมาก ดังนั้นจึงขอปรับกรอบค่าใช้จ่ายส่วนตัวในอัตราที่ไม่มากกว่าวุฒิขั้นต่ำที่ข้าราชการได้รับ

เงื่อนไขเวลาการปฏิบัติงานตอบแทนทุน การบูรณาการทุนการศึกษากับทุนรัฐบาลอื่น ๆ และการชดใช้ทุนเป็นเงิน

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2555 ? 2559 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554

เวลาการปฏิบัติงานตอบแทนทุน ทุนศึกษาในประเทศ

1. ระดับ ม.ปลาย ไม่นับเวลาปฏิบัติงาน ตอบแทนทุน

2. ระดับ ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก ให้ปฏิบัติงานตอบแทนทุนการศึกษา ไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของระยะเวลาที่ศึกษา ด้วยทุน พสวท.

ทุนศึกษาต่างประเทศ

ระดับ ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก ให้ปฏิบัติงานตอบแทนทุนการศึกษาไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของระยะเวลาที่ศึกษาด้วยทุน พสวท.ในกรณีนับระยะเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุนการศึกษารวมแล้วเกิน 10 ปี ให้ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 10 ปี ในทุกกรณี ทั้งทุนศึกษาในประเทศและต่างประเทศ

การบูรณาการทุน พสวท. กับทุนรัฐบาล

อื่น ๆ

ให้นับเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุนรัฐบาลอื่น (สำหรับการศึกษาในระดับที่สูงกว่า) ให้ครบก่อนแล้วจึงนับเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุน พสวท. ต่อจากทุนอื่น

การชดใช้ทุนเป็นเงิน

หากผิดสัญญาจะต้องจ่ายคืนเงินทุนการศึกษาเป็นจำนวน 2 เท่าของที่ได้รับไป ทั้งทุนศึกษาในประเทศและต่างประเทศ

หน่วยงานที่ปฏิบัติ

ผู้สำเร็จการศึกษาที่รับทุน พสวท. ต้องปฏิบัติงานตอบแทนทุนในตำแหน่งนักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ หรืออาจารย์ในหน่วยงานภาครัฐ

ในกรณีที่ไม่มีอัตราบรรจุอาจปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายปีหรือลูกจ้างที่มีแผนปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 2 ปี ให้นับเป็นเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุนได้

แผนการดำเนินงานทุน พสวท.พ.ศ. 2560 ? 2564(สิ่งที่ขอปรับในครั้งนี้)

เวลาการปฏิบัติงานตอบแทนทุน

คงเดิม

ในกรณีที่ผู้รับทุนมีระยะเวลาการปฏิบัติงานตอบแทนทุนรวมมากกว่าหรือเท่ากับ 10 ปี ให้ถือว่าการปฏิบัติงานตอบแทนทุน พสวท. หมดลงในปีที่ 10 ของการปฏิบัติงานตอบแทนทุน ทั้งทุนศึกษาในประเทศและต่างประเทศ

การบูรณาการทุน พสวท. กับทุนรัฐบาลอื่น ๆ

หากนับเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุนรวมกันแล้วมากกว่า 10 ปีให้ถือว่าการปฏิบัติงานตอบแทนทุนในส่วนของทุน พสวท. สิ้นสุดลงในปีที่ 10 ของการปฏิบัติงานตอบแทนทุน ทั้งนี้ หากผู้รับทุน พสวท. ไปรับทุนอื่น ๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา แต่มีความประสงค์ที่จะรับสิทธิประโยชน์จากทุน พสวท. หลังจากสำเร็จการศึกษาจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพในระดับบัณฑิตศึกษาครบตามที่ทุน พสวท. กำหนด

การชดใช้ทุนเป็นเงิน

ทุนศึกษาในประเทศ

1. ระดับ ม.ปลาย หากผู้รับทุนไม่ประสงค์จะศึกษาต่อเนื่องในระดับที่สูงขึ้นด้วยทุน พสวท. ต้องแจ้งความจำนงภายในเวลาที่ สสวท. กำหนด เพื่อที่จะไม่ต้องชดใช้ทุนการศึกษา หากลาออกจากทุนก่อนกำหนด ต้องใช้ทุนคืน 1 เท่า ของจำนวนเงินทุนการศึกษาและเงินอื่นใดที่ผู้รับทุนได้รับไปทั้งหมด

2. ระดับ ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก ผู้รับทุนที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของทุน พสวท. หรือที่ไม่ประสงค์จะศึกษาต่อเนื่องในระดับที่สูงขึ้นต้องชดใช้ทุน 1 เท่าของจำนวนเงินทุนการศึกษาและเงินอื่นใดที่ผู้รับทุนได้รับไปทั้งหมด

ทุนศึกษาต่างประเทศ คงเดิม

หน่วยงานที่ปฏิบัติ

1. ให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐก่อน หากภาครัฐมีอัตราจำกัดให้ผู้สำเร็จทุน พสวท. ไปปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจที่มีงานวิจัยรองรับหรือบริษัทเอกชนที่ภาครัฐถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 51 (ที่อาจพิจารณาเทียบเคียงกับรัฐวิสาหกิจได้) โดยมีคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท.

2. ผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ที่ประสงค์จะปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานภาคเอกชน ผู้สำเร็จการศึกษาหรือหน่วยงานเอกชนต้นสังกัดจะต้องชดใช้เงินทุนให้กับ พสวท. เป็นจำนวน 1 เท่า ของเงินทุนการศึกษาและหรือเงินอื่นใดที่ผู้รับทุนได้รับไปจาก พสวท. โดยคิดทั้งมูลค่าความร่วมมือในรูปตัวเงิน (in-cash) และความช่วยเหลือ (in-kind) เช่น การสนับสนุนทรัพยากรในด้านต่าง ๆ การเป็นวิทยากร สนับสนุนสถานที่ในการฝึกอบรม เป็นต้น

เหตุผล

เนื่องจากมีผู้ไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นและมีทุนการศึกษาที่ไม่มีข้อผูกพันจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศผู้เรียนจึงเลือกที่จะไม่รับทุน พสวท. เช่นที่ผ่านมา

ภาคเอกชนยังขาดแคลนนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยต้องพึ่งพาอาศัยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงขอปรับเปลี่ยนรูปแบบและหน่วยงานสำหรับปฏิบัติงานตอบแทนทุนให้สามารถปฏิบัติงานตอบแทนทุนในหน่วยงานภาคเอกชนและสถาบันอุดมศึกษา เอกชนภายในประเทศได้

  • สำหรับประมาณการค่าใช้จ่าย สสวท. จะดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจาก สำนักงบประมาณ (สงป.) ผ่าน ศธ. โดยทำความตกลงในรายละเอียดร่วมกับ สงป. ต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ