เรื่อง การดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ (Government Chief Information Officer Management Guideline)
1. รับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ [Government Chief Information Officer (GCIO) Management Guideline] ของสำนักงาน ก.พ.
2. เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในข้อ 1
3. เห็นชอบการเพิ่มเติมบทบาทของ GCIO ระดับกระทรวง กรม และจังหวัด ในการเป็นผู้นำการปรับเปลี่ยนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการบริการของหน่วยงานในรูปแบบ Digital Transformation เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัลอย่างเร่งด่วน
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการ GCIO สำนักงาน ก.พ. ได้จัดประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการ GCIO ให้ได้ข้อยุติร่วมกัน โดยมีประเด็นที่มีผลต่อการปรับรายละเอียดแนวทางการบริหารจัดการ GCIO ดังนี้
1.1 การปรับรายละเอียดแนวทางการบริหารจัดการ GCIO เฉพาะในส่วนขององค์ประกอบและบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ GCIO ดังนี้
องค์ประกอบ
รายละเอียดตามนัยมติคณะรัฐมนตรี(26 พฤศจิกายน 2562)
1) รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลภารกิจด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เป็นประธาน
2) รับมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธาน
หน้าที่ความรับผิดชอบ
3) ให้ความเห็นชอบสถาปัตยกรรมองค์กรภาครัฐรวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
รายละเอียดที่เสนอปรับปรุงครั้งนี้
1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน
2) ไม่มีการกำหนดตำแหน่งรองประธานและองค์ประกอบอื่นเป็นไปตามเดิม
หน้าที่ความรับผิดชอบ
3) ให้ข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำสถาปัตยกรรมองค์กรภาครัฐ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
1.2 การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงระดับจังหวัด (Provincial Chief Information Officer: PCIO) ดังนี้
องค์ประกอบ PCIO ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี(26 พฤศจิกายน 2562)
1) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน
2) หัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
3) สถิติจังหวัด เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ประเด็นที่ปรับปรุง
1) ผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด/รองปลัดกรุงเทพมหานครที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน
2) หัวหน้าสำนักงานจังหวัด/หัวหน้าหน่วยงานการบริหารจัดการการขับเคลื่อนภารกิจของกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ
3) สถิติจังหวัด/หัวหน้าหน่วยงานการจัดระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หมายเหตุ: องค์ประกอบอื่นคงเดิม
1.3 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดอบรมหลักสูตร GCIO จะไม่มีผลกระทบต่อหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (หลักสูตร รอส.) จึงเห็นควรเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ดังนี้
ถ้อยคำตามนัยมติคณะรัฐมนตรี(26 พฤศจิกายน 2562)
ให้ สพร. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการอบรมหลักสูตร GCIO ?
ถ้อยคำที่ขอปรับในครั้งนี้
ให้ สพร. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร GCIO ... (ถ้อยคำที่เหลือคงเดิม)
ก.พ. โดยคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 เห็นชอบการปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางการบริหารจัดการ GCIO และการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (26 พฤศจิกายน 2562) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร รอส. แล้ว
2. กพ. โดย อ.ก.พ. วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการ ในการประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 และครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการเพิ่มเติมบทบาทของ GCIO ระดับกระทรวง กรม และจังหวัด ในการเป็นผู้นำการปรับเปลี่ยนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการบริการของหน่วยงานในรูปแบบ Digital Transformation เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัลอย่างเร่งด่วน เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 วางแนวทางสนับสนุนการปฏิบัติงานบนฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เช่น การจัดหาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) หรือปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน และการนำอุปกรณ์ไอทีส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติงาน (Bring Your Own Device) เป็นต้น โดยให้ดำเนินการให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบและสร้างความยั่งยืนในการดำเนินการ
2.2 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานในหน่วยงานและพัฒนาหรือจัดให้มีระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่รองรับการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ระบบ e - Office ระบบ e - Saraban ระบบ e - Meeting ระบบ e - Service และระบบ e - Edutainment เป็นต้น โดยให้มีการพิจารณาถึงความต้องการในการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคตและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างวิถีชีวิตใหม่ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีผู้รับผิดชอบการดำเนินการที่ชัดเจน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าภาพหลัก โดยเร่งผลักดันและดำเนินการ ดังนี้
ประเด็น - ผู้รับผิดชอบหลัก/กลไกการดำเนินงาน
1) การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการและสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับการปฏิบัติงานของบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง การแลกเปลี่ยนและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
ดศ. สพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3) การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในกฎ ระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านดิจิทัลของบุคลากรในหน่วยงาน ซึ่งควรมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์หรือหลักสูตรให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงด้วย
ดศ. สพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4) การสร้างความพร้อมและพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้พร้อมรับและปรับตัวเข้ากับการปฏิบัติงาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและวิถีชีวิตใหม่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งควรมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ หรือหลักสูตรให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงด้วย สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5) การปรับปรุงหรือแก้ไขกฎ ระเบียบ การวางหรือจัดทำแนวทาง มาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงานและการบริหารงานภาครัฐด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างวิถีชีวิตใหม่ในการปฏิบัติงาน
ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง ระดับกระทรวง (MCIO) ระดับกรม (DCIO) และระดับจังหวัด (PCIO) รวบรวมประเด็นการดำเนินการ ได้แก่
- เพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการปฏิบัติงานและการบริหารงานภาครัฐด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเสนอ GCIO Committee ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและการดำเนินการที่สอดรับประเด็นดังกล่าวต่อไป
6) การสนับสนุนงบประมาณเพื่อรองรับการสร้างและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการดำเนินการที่รองรับการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
สำนักงบประมาณ (สงป.)
2.3 กำหนดแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของหน่วยงานเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล การปฏิบัติงานที่บ้านหรือการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน โดยมีการดำเนินการหลัก ดังนี้
การดำเนินการ - วัตถุประสงค์
1) รวบรวมการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของกระบวนการหรือระบบการทำงานก่อนและระหว่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงาน
เพื่อแสดงภาพรวมการเปลี่ยนแปลง และความเคลื่อนไหวของการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการและระบบปฏิบัติงานของหน่วยงาน
2) วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และปัญหาและอุปสรรคจากการปฏิบัติงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมและการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินการ
3) ประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน การประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และคุณภาพของงานที่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดหรือความพึงพอใจของผู้รับบริการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563