แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564

ข่าวการเมือง Tuesday September 29, 2020 18:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอดังนี้

1. รับทราบและอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ดังนี้

1.1 รับทราบการปรับลดกรอบวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโณนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19ฯ) ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2563 จากเดิม 600,000 ล้านบาท เป็น 450,000 ล้านบาท โดยนำวงเงินกู้ที่ได้ปรับลดมาบรรจุในแผนฯ ปีงบประมาณ 2564

1.2 อนุมัติแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ประกอบด้วยแผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,465,438.61 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิมวงเงิน 1,279,446.80 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 387,354.84 ล้านบาท

1.3 อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Dept Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่งดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย

1.4 รับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ 2564 ? 2568) และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป

2. อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาและการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ในการะประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 มีมติ ดังนี้

1.1 เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

รายการ - วงเงิน (ล้านบาท)

แผนฯ ปี 2563(ปรับปรุงครั้งที่ 2) / แผนฯ ปี 2564 / การเปลี่ยนแปลง (ปี 64 ? ปี 63)

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ 1,656,020.40* / 1,465,438.61 / -190,581.79

1.1 รัฐบาล 1,545,771.27 / 1,346,170.52 / -199,600.75

1.2 รัฐวิสาหกิจ 108,256.96 / 117,460.05 / 9,203.09

1.3 หน่วยงานอื่นของรัฐ 1,992.17 / 1,808.04 / -184.13

2. แผนการบริหารหนี้เดิม 968,510.10 / 1,279,446.80 / 310,936.70

2.1 รัฐบาล 810,215.57 / 1,140,580.79 / 330,365.22

2.2 รัฐวิสาหกิจ 156,794.53 / 137,366.01 / -19,428.52

2.3 หน่วยงานอื่นของรัฐ 1,500.00 / 1,500.00 / -

3. แผนการชำระหนี้ 367,043.90 / 387,354.84 / 20,310.94

3.1 แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย 236,824.13 / 293,454.32 / 56,630.19

3.2 แผนการชำระหนี้จากแหล่งอื่น ๆ130,219.77 / 93,900.52 / -36,319.25

  • หมายเหตุ: วงเงินค่อนข้างสูงเนื่องจากมีวงเงินกู้ของรัฐบาล กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จำนวน 214,093.92 ล้านบาท บรรจุเพิ่มเติมไว้ในแผนฯ ปีงบประมาณ 2563 (ปรับปรุงครั้งที่ 2)

โดยสาระสำคัญของแผนฯ ปีงบประมาณ 2564 มี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.1.1 แผนการก่อหนี้ใหม่โดยหลักเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 623,000 ล้านบาท การกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินโควิด - 19ฯ วงเงิน 550,000 ล้านบาท และการกู้เพื่อลงทุนในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 74,007.02 ล้านบาท เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพร เป็นต้นอย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้จ่ายของภาครัฐจากการใช้เงินกู้และงบประมาณข้างต้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เห็นควรให้กระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานเจ้าของเงินกู้กำกับติดตามการดำเนินแผนงานหรือโครงการให้สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง (กค.) จะดำเนินการกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องเงินคงคลังของภาครัฐให้เพียงพอต่อการรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 โดยออกตั๋วเงินคลังระยะสั้น อายุไม่เกิน 120 วัน วงเงิน 99,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานในระยะยาวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.1.2 แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พศ. 2564 วงเงิน 293,454.32 ล้านบาท (เป็นวงเงินชำระต้นเงินกู้ 99,000.00 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 194,454.32 ล้านบาท) และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่น ๆ วงเงิน 93,900.52 ล้านบาท เช่น ชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นตัน

1.2 ในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่งที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) นับแต่มีการก่อหนี้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ ทั้ง 4 แห่ง สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย

1.3 คณะกรรมการฯ ได้จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 - 2568) โดยมีโครงการลงทุนรวม 182 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 819,283.16 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปีเดิม (ปีงบประมาณ2563 - 2567) ประมาณร้อยละ 30 เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบายและรูปแบบการลงทุน และความไม่พร้อมของหน่วยงานเจ้าของโครงการ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป

2. การจัดทำแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 โดย กค. คาดว่าระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 57.23 (กรอบไม่เกินร้อยละ 60) รวมทั้งได้จัดทำประมาณการหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในช่วงปีงบประมาณ 2565 - 2568 อยู่ระหว่างร้อยละ 58.13 ? 59.07 ซึ่งยังอยู่ภายใต้สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ระดับร้อยละ 60

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ