เรื่อง ระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวล จริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรมและกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2563 เพื่อสำนักงาน ก.พ. จะได้ดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการและวิธีการของการจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรมข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. .... ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้ปรับปรุงร่างระเบียบฯ ตามความเห็นและข้อสังเกตของ ก.ม.จ. โดยแจ้งเวียน ก.ม.จ. ให้ความเห็นชอบ และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. เพื่อให้ข้าราชการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พิจารณาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างระเบียบฯและได้เสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะประธานกรรมการมาตรฐานทาง จริยธรมพิจารณาลงนาม และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
2. ส่วนสาระสำคัญของระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย 4 หมวด และบทเฉพาะกาลจำนวน 22 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป (ข้อ 5-ข้อ 6) กำหนดให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 2 หลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรม (ข้อ 7 - ข้อ 12) ประกอบด้วย
(1) หลักการจัดทำประมวลจริยธรมต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 และให้มีความสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน ยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ บริบทสากล และการแก้ไขปัญหาหรือความเสี่ยงทางจริยธรรม โดยจะต้องแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ และคุณลักษณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี
(2) วิธีการจัดทำประมวลจริยธรรม ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อจัดทำร่างประมวลจริยธรรมแล้วเสร็จให้เสนอ ก.ม.จ. เพื่อพิจารณา และจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับ
(3) ส่วนราชการอาจจัดทำข้อกำหนดจริยธรรม โดยนำหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรมมาปรับใช้ ทั้งนี้ ต้องเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทราบด้วย
หมวด 3 กระบวนการรักษาจริยธรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ข้อ 13-ข้อ 18) ได้กำหนด หน้าที่และอำนาจ กลไก วิธีการขององค์กรระดับต่าง ๆ ทั้งองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรม หน่วยงานของรัฐ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และกลุ่มงานจริยธรรม เพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมของหน่วยงาน
หมวด 4 การประกาศ เผยแพร่ และการประชาสัมพันธ์ (ข้อ 19-ข้อ 21) กำหนดให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมประกาศประมวลจริยธรรมในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับทราบและถือปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีช่องทางสอดส่องดูแลการประพฤติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
บทเฉพาะกาล (ข้อ 22) กรณีได้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมแล้วแต่ยังไม่ได้กำหนดกระบวนการรักษาจริยธรรม ให้กลไกที่มีอยู่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เดิมจนกว่าจะมีการกำหนดกระบวนการรักษาจริยธรรม
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2563