คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 และเพื่อจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ตามคำขอที่ 1/2559 ของนายลำพูน กองศาสนะ ที่จังหวัดสตูล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 และขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และ 4 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมป่าไม้และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (กรมอนามัย) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยมีอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นประธานการประชุม ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ การดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการที่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการ มีส่วนร่วม การดูแลด้านสุขอนามัยของชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ และไม่มีการร้องเรียนคัดค้านจากราษฎรในพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุมไม่มีเหตุขัดข้อง โดยที่ประชุมมีมติให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นำเสนอคณะรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งต่อไป ซึ่ง อก. ได้แจ้ง ทส. กษ. และ สธ. เพื่อทราบผลการประชุมหารือดังกล่าวแล้ว
2. นายลำพูน กองศาสนะ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในพื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งแปลง ซึ่งครบกำหนดสิ้นอายุเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 และได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมเนื้อที่ 265 ไร่ 2 ตารางวา ที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และขออนุญาตเพื่อจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เนื้อที่ 102 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ของลุ่มน้ำภาคใต้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 มีรายละเอียด ดังนี้
รายการ - รายละเอียด
เนื้อที่
คำขอประทานบัตร มีเนื้อที่รวม 265 ไร่ 2 ตารางวา ดังนี้
พื้นที่ - พื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งแปลงซึ่งมีการทำเหมืองมาก่อนและหมดอายุแล้ว / เนื้อที่ 197 ไร่ 2 งาน
พื้นที่ - ขยายพื้นที่เพิ่มเติมซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยผ่านการทำเหมืองมาก่อน / เนื้อที่ 67 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา
คำขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เนื้อที่ 102 ไร่ โดยขออนุญาตทับพื้นที่ใบอนุญาตฯ เดิม ดังนี้
ใบอนุญาตเดิม (ที่ 1/2552) เนื้อที่ 233 ไร่ 1 งาน 41 ตารางวา
คำขอใบอนุญาตในครั้งนี้ - ขออนุญาตทับพื้นที่ใบอนุญาตฯ เดิม แต่ลดลงเหลือเพียง 102 ไร่ พื้นที่เดิมที่ไม่ได้ขอใบอนุญาตอีกในครั้งนี้มีบางส่วนขยายเป็นพื้นที่ขอประทานบัตรเพิ่มเติม
ลักษณะพื้นที่
1) พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ป่า โดยได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ไว้แล้ว
คำขอประทานบัตร
เป็นที่ป่า เต็มทั้งแปลง คือ 265 ไร่ 02 ตารางวา
ไม่เป็นที่ป่า -
คำขอใบอนุญาตฯ
เป็นที่ป่า บางส่วน คือ 36 ไร่ 1 งาน
ไม่เป็นที่ป่า มีเอกสารสิทธิ โฉนดที่ดิน 65 ไร่ 3 งาน (ไม่ต้องขอคณะรัฐมนตรีผ่อนผัน)
2) อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564
3) ไม่อยู่ในแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ
4) มีสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ความคุ้มค่า
โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อท้องถิ่นและประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยพบว่า ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 282.67 ล้านบาท มีมูลค่าโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 242.91 ล้านบาท
การเห็นชอบ/อนุมัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน
1) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกรทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ได้มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับคำขอประทานบัตรแล้ว
2) ทส. เห็นชอบตามที่ อก. เสนอ
3) องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนุ้ยได้เห็นชอบในการขอประทานบัตรแล้ว
4) การทำเหมืองที่ผ่านมาและการปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน
5) ไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร และการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือสร้างความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่แต่อย่างใด
3. การดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563