คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนเมษายน ? มิถุนายน 2563) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และเสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป โดยรายงานดังกล่าวประกอบด้วย ความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค และการดำเนินการในระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้
1. ความคืบหน้ากิจกรรมสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศระหว่างเดือนเมษายน ? มิถุนายน 2563 สศช. รายงานว่าในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 พฤษภาคม 2563) เห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2563 ให้ขยายระยะเวลาการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการปฏิรูปประเทศเพิ่มเติมทุกด้าน ซึ่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ แล้ว จำนวน 13 ด้าน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 กรกฎาคม 2563) ให้ปรับปรุงรูปแบบของรายงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและให้แสดงการดำเนินงานที่มีลักษณะ พัฒนาการจากงานเดิมและเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิรูป มิใช่งานปกติ และเมื่อครบรอบระยะเวลาที่ต้องรายงานความคืบหน้าให้ สศช. เร่งรัดเสนอรายงานฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจะได้เสนอต่อรัฐสภาให้ทันกำหนดเวลาแต่ละวงรอบต่อไป ดังนั้น การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ ในรอบเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 จึงรายงานตามรูปแบบที่ได้รับการสั่งจากคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความคืบหน้าในแต่ละกิจกรรมฯ ในรูปแบบตารางตามตัวอย่างในกรณีแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ดังนี้
เรื่องและประเด็นปฏิรูป
4 ระบบบริการปฐมภูมิ
กิจกรรมที่มีความคืบหน้าในรอบเดือนเมษายน ? มิถุนายน 2563
- สำนักสนับสนุนบริการปฐมภูมิได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เช่น ให้อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. ที่ผ่านการฝึกอบรมด้านสุขภาพปฐมภูมิเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
ประชาชนมีการเข้าถึงระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม
ความเชื่อมโยง
ยุทธศาสตร์ชาติ
3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
13 การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี
เป้าหมายแผนแม่บทย่อย
130401 การกระจายบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
1.1 ความคืบหน้ากิจกรรมสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศที่มีลักษณะพัฒนาการจากงานเดิมเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิรูป มิใช่งานปกติและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน 12 ด้าน ดังนี้
1.1.1 ด้านการเมือง ได้แก่ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อการปฏิรูปประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พัฒนาแอพพลิเคชันฉลาดเลือก (Smart Vote) โดยเพิ่มเติมข้อมูลความรู้และข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เช่น กฎหมาย ข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งและประชาชนได้รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ระบบฐานข้อมูลในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้แก่ประชาชน ตลอดจนการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง
1.1.2 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ การพัฒนาระบบดิจิทัล งานพื้นฐานของรัฐแบบรวมศูนย์รองรับการเชื่อมโยงข้อมูล และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเสนอผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2563 ต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มิถุนายน 2563) รับทราบและเห็นชอบ ดังนี้ (1) ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางของกรมการปกครอง หรือ สพร. โดยเร็ว (2) ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะไปปฏิบัติ เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) โดยในปีงบประมาณ 2563 ให้เน้นเปิดเผยชุดข้อมูลที่ยกระดับอันดับการเปิดเผยข้อมูลของประเทศไทย (Open Data Ranking) และ (3) ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับ สพร. ให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานภาครัฐในการนำประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะไปปฏิบัติและดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐตามประกาศฯ ต่อไป ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ความสะดวกและรวดเร็วในการติดต่อหน่วยงานภาครัฐที่มีระบบดิจิทัลสำหรับใช้งานพื้นฐานในลักษณะแบบรวมศูนย์รองรับการเชื่อมโยงข้อมูล และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และลดการลงทุนซ้ำช้อนของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดทรัพยากร สนับสนุนให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
1.1.3 ด้านกฎหมาย ได้แก่ มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ....โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (26 พฤษภาคม 2563) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาพิจารณา โดยถือเป็นร่างกฎหมายตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การมีกลไกรองรับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนให้สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1.1.4 ด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการพัฒนาและติดตั้งระบบการอนุญาโตตุลาการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E - Arbitration) เปิดใช้งานระบบตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 โดยในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 มีบุคคลเข้ามาลงทะเบียนใช้งานในระบบประมาณ 120 ราย และมีข้อพิพาทที่รับใหม่และข้อพิพาทที่แล้วเสร็จจำนวน 24 ข้อพิพาท โดยสามารถติดตามสถิติผู้ใช้งานระบบ E - Arbitration ผ่านเว็บไซต์ https:/tai.coj.go.th ทั้งนี้ ประโชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การอำนวยความสะดวกให้คู่พิพาทสามารถเสนอข้อเรียกร้องและคำคัดค้านสู้คดี รวมทั้งนำเสนอพยานหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว ผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้สถาบันอนุญาโตตุลาการจะมีการบริหารจัดการข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ สามารถเก็บรวบรวมสถิติและข้อมูลคดีที่ถูกต้อง และเป็นเวลาปัจจุบัน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารภายในองค์กรและนอกองค์กรได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
1.1.5 ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การเพิ่มระดับการแข่งขันทางธุรกิจ ? วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สศช. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในนามคณะทำงานสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อบูรณาการความร่วมมือหาแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ด้วยการมุ่งสร้างโอกาสในตลาดที่สำคัญ ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวได้ข้อสรุปในการเร่งรัดจัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ SME โดยเห็นชอบให้มีการยกร่างหลักเกณฑ์ฯ ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน นอกจากนี้คณะทำงานได้มอบหมายให้ สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลางในการดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงเพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ แนวทางหลักในการสนับสนุน SME ประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ด้าน ดังนี้ (1) การกำหนดสัดส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจาก SME อย่างน้อยร้อยละ 30 ของงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อกระจายโอกาสให้ SME ในท้องถิ่น (2) การกำหนดแต้มต่อพิเศษสำหรับ SME ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกรณี E-Bidding ร้อยละ 10 ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ ผู้ประกอบการ SME สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ รวมทั้งสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและปฏิบัติตามขั้นต้นและกระบวนการจัดจ้างของภาครัฐได้อย่างถูกต้อง
1.1.6 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเสริมสร้างระบบบริหารจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิดให้มีประสิทธิภาพ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง Zero Waste ระดับจังหวัด มีการขับเคลื่อนการจัดการขยะที่ต้นทางโดยประชาชน ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมจำนวน 676 แห่ง และได้ดำเนินกิจกรรมลดและคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จำนวน 94,011.93 ตัน ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2563 รวมทั้ง จัดทำร่างเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกประเภทเหล็กเสริมคอนกรีต และประเภทฉนวนกันความร้อนเสนอคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 มีมติเห็นชอบและให้นำรายการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้ภาคราชการจัดซื้อตามประกาศกรมบัญชีกลางเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การมีส่วนร่วมในการจัดการขยะระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง และปริมาณขยะในแต่ละท้องที่มีแนวโน้มลดลงจากการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ และการส่งเสริมให้ภาครัฐอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดตลาดในการรับซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดรายได้และเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สามารถแข่งขันได้
1.1.7 ด้านสาธารณสุข ได้แก่ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ กรมอนามัย (กลุ่มส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ) กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสร้างการตระหนักรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ (1) ให้ความรู้และกระตุ้นพฤติกรรมพึงประสงค์ในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่าน facebook โดยมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมและส่งต่อให้ความเห็น จำนวน 76,000 ครั้ง (2) วางแผนและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน 2019 ภายใต้คณะทำงานภารกิจความรอบรู้ด้านสุขภาพและการรักษาระยะห่างทางสังคม และ (3) จัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเพื่อเฝ้าระวังและตอบโต้ความเสี่ยงด้านสุขภาพผ่านระบบของศูนย์ตอบโต้ความเสี่ยงเพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยมีนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 39 คน ร่วมเฝ้าระวังและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารปลอมด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ สามารถดูแลสุขภาพมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และสามารถป้องกันและลดโรคที่สามารถป้องกันได้อย่างเหมาะสม
1.1.8 ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์/กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนแม่บทเพื่อนำเทคโนโลยี บรอดแบนด์ไร้สายมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมเพื่อภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยมีการรวบรวมข้อมูลและเตรียมการเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์เบื้องต้น พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความเห็นในรูปแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 2 - 17 เมษายน 2563 และจัดการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus group) ในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อพิจารณาหลักการเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการจัดทำร่างประกาศฯ ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนได้รับคือ ความสามารถในการบริหารจัดการสิทธิในชุดเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Package) และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน
1.1.9 ด้านสังคม ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กอช. มีจำนวนสมาชิกสะสม 2,370,872 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนมีนาคม จำนวน 12,879 คน โดยสัดส่วนสมาชิกประกอบด้วย เกษตรกร ร้อยละ 48.07 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 6.35 ค้าขาย ร้อยละ 6.36 นักเรียน นิสิต นักศึกษา ร้อยละ 6.20 ผู้ประกอบวิชาชีพ ร้อยละ 0.53 ลูกจ้างชั่วคราว ร้อยละ 1.78 และผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ร้อยละ 30.71 ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ประชาชนที่เข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้รับการสนับสนุนให้เกิดการออมทรัพย์เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้เมื่อยามชราภาพ และเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐในอนาคตในด้านการดูแลผู้สูงอายุ
1.1.10 ด้านพลังงาน ได้แก่ แนวทางการปรับโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 และกรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการยกร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2018) และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การปรับโครงสร้างราคา รวมทั้งชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนมาตรการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทาง
1.1.11 ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้แก่ ผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะภายใน 2 ปี ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแล้วอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้
1.1.12 ด้านการศึกษา ได้แก่ การพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและการวัดประเมินผล เพื่อพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งการพัฒนาความรู้ และสมรรถนะด้านเนื้อหาสาระที่สอน ด้านศาสตร์การสอน ด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยีในการเรียนรู้และการสอนด้านการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และด้านบทบาทของครูในยุคใหม่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการ ?การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computing science)? ได้แก่ (1) จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9 หลักสูตร (2) อบรม ศึกษานิเทศก์หลักสูตรการให้คำปรึกษาและการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับศึกษานิเทศก์ (Coding Mentor) 5 ภูมิภาค โดยมีศึกษานิเทศก์เข้ารับการอบรมและผ่านเกณฑ์ จำนวน 450 คน (3) พัฒนาหลักสูตรวิทยาการคำนวณสำหรับครู จำนวน 5 หลักสูตรเป็นระบบออนไลน์เพื่อรับมือกับสถานการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และร่างหลักสูตรพัฒนาครูระบบออนไลน์ จำนวน 5 หลักสูตร ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ นักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่ได้รับการเรียนการสอนจากบุคลากรครูที่ได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและสมรรถนะด้านเนื้อหาแห่งศตวรรษที่ 21
1.2 สถานะกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ไม่มีกฎหมายแล้วเสร็จเพิ่มเติม โดยจากกฎหมายภายใต้แผนฯ จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายแล้วเสร็จ จำนวน 48 ฉบับ
พระราชบัญญัติและกฎหมายว่าด้วย ...
1 การเมืองจำนวน 1 เสร็จ -
2 บริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 4 เสร็จ 3
3 กฎหมาย จำนวน 14 เสร็จ 4
4 กระบวนการยุติธรรม จำนวน 40 เสร็จ 5
5 เศรษฐกิจจำนวน 32 เสร็จ 8
6 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 35 เสร็จ 13
7 สาธารณสุข จำนวน 14 เสร็จ 1
8 สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 7 เสร็จ 2
9 สังคม จำนวน 16 เสร็จ 3
10 พลังงาน จำนวน 5 เสร็จ -
11 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ จำนวน 22 เสร็จ 2
12 การศึกษาจำนวน 6 เสร็จ 4
13 กระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จำนวน 2 เสร็จ -
รวม จำนวน 198 เสร็จ 45
พระราชกฤษฎีกา/กฎกระทรวง/ระเบียบ
1 การเมืองจำนวน - เสร็จ -
2 บริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 1 เสร็จ -
3 กฎหมาย จำนวน - เสร็จ -
4 กระบวนการยุติธรรม จำนวน - เสร็จ -
5 เศรษฐกิจจำนวน 1 เสร็จ -
6 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน - เสร็จ -
7 สาธารณสุข จำนวน - เสร็จ -
8 สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน - เสร็จ -
9 สังคม จำนวน 3 เสร็จ 2
10 พลังงาน จำนวน 11 เสร็จ -
11 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ จำนวน 1 เสร็จ 1
12 การศึกษาจำนวน 1 เสร็จ -
13 กระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จำนวน - เสร็จ -
รวม จำนวน 18 เสร็จ 3
รวม
1 การเมืองจำนวน 1 เสร็จ -
2 บริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 5 เสร็จ 3
3 กฎหมาย จำนวน 14 เสร็จ 4
4 กระบวนการยุติธรรม จำนวน 40 เสร็จ 5
5 เศรษฐกิจจำนวน 33 เสร็จ 8
6 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 35 เสร็จ 13
7 สาธารณสุข จำนวน 14 เสร็จ 1
8 สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 7 เสร็จ 2
9 สังคม จำนวน 19 เสร็จ 5
10 พลังงาน จำนวน 16 เสร็จ -
11 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ จำนวน 23 เสร็จ 3
12 การศึกษาจำนวน 7 เสร็จ 4
13 กระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จำนวน 2 เสร็จ -
รวม จำนวน 216 เสร็จ 48
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของกระบวนการจัดทำกฎหมาย (1) อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ด้านกระบวนการยุติธรรม) และ (2) ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 ฉบับ คือ 1) ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... (ด้านกฎหมาย) (ปัจจุบันได้เสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563) และ 2) การปรับปรุงพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2549 แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล (ด้านกฎหมาย) ซึ่ง สศช. เห็นสมควรเร่งรัดหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดทำกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อจัดทำและเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
2. ปัญหาอุปสรรค
การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา สศช. ได้รวบรวมข้อเสนอแนะในการรายงานผลและประเด็นคำถามจากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จากการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศรายไตรมาส พบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้ข้อเสนอแนะว่ากิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เป็นการปฏิรูป และไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งอุปสรรคในการติดตามตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมบางประการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามแผนอาจขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับปรุงรูปแบบการรายงานในรอบการรายงานครั้งนี้แล้ว ประกอบกับที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ได้เห็นชอบเค้าโครงการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศให้มีความกระชับและชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (3 ธันวาคม 2562) เพื่อให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศใช้ประกอบการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศต่อไป
3. การดำเนินการในระยะต่อไป
3.1 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 และ 5 พฤษภาคม 2563 โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาตลอดจนบริบทต่าง ๆ และผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3.2 สศช. ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ระหว่างเตรียมการจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ nscr.nesdc.go.th/Line @nscr และจดหมายราชการถึงทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชุมรับฟังความเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ 2 ? 3 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย สศช. ได้แจ้งหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนทุกหน่วยงานร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนการปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น เสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563