เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Virtual Ministers Responsible for Trade Meeting on Covid-19: VMRT )
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Virtual Ministers Responsible for Trade Meeting on Covid-19: VMRT ) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กรกฎาคม 2563) เห็นชอบร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคและร่างปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค] โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
1. การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล รัฐมนตรีการค้าเอเปคและผู้แทนระดับสูงของแต่ละเขตเศรษฐกิจได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังนี้
1.1 แลกเปลี่ยนข้อมูลออนไลน์เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19
1.2 จัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค
1.3 ทบทวนการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคลที่มีความจำเป็น โดยเขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เห็นว่า เอเปคควรมุ่งฟื้นฟูความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการผลิตให้มีเสถียรภาพ และควรใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์ของแต่ละเศรษฐกิจ
1.4 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและเสริมสร้างการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล โดยจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อโยงข้อมูลมาตรการในการรับมือผลกระทบจากโรคโควิด-19 ของเขตเศรษฐกิจ โดยประเทศญี่ปุ่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เครือรัฐออสเตรเลีย และประเทศไทย ได้สนับสนุนให้เอเปคมีการใช้นโยบายหรือมาตรการทางการค้าเป็นการชั่วคราวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าและสร้างโอกาสจ้างงานให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย สตรี และกลุ่มเปราะบาง
2. การกล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย ไทยได้กล่าวถ้อยแถลงโดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญ ดังนี้
2.1 สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและเสริมสร้างความโปร่งใสในการแจ้งมาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ต่อองค์การการค้าโลก (WTO)
2.2 ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะและใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อโดยเฉพาะการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว
2.3 รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิตและส่งเสริมการมีห่วงโซ่อุปทานที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
2.4 มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย การส่งออก การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
2.5 ลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ ลดต้นทุนทางการค้า และยกระดับ การผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม
2.6 ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชน โดยเฉพาะภาคแรงงาน
3. การร่วมรับรองแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคและปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค มีสาระสำคัญ ดังนี้
3.1 แถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งมีสาระสำคัญตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ได้แก่ (1) เน้นย้ำบทบาทของเอเปคในการสนับสนุนการทำงานของ WTO โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าโดยไม่จำเป็น (2) อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็น (3) ส่งเสริมการไหลเวียนการค้า สินค้าที่มีความจำเป็นและการหยุดชะงักของการค้าสินค้ายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหาร และเกษตร (4) ผลักดันการสร้างกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการ (5) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย เข้าถึงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มีประเด็นเพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ได้แก่ (1) การใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 จะใช้โดยเฉพาะเจาะจงเป็นการชั่วคราว (2) การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคคลที่จำเป็น (3) การเสริมสร้างการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน (4) การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนและการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (5) การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการหรือนโยบายของเอเปค
3.2 ปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งไม่ได้มีประเด็นเพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ได้แก่ (1) ยืนยันการใช้มาตรการจำกัดและห้ามการส่งออกให้สอดคล้องกับ WTO (2) สนับสนุนให้เอเปคทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีกับการค้าสินค้าที่มีความจำเป็น (3) ส่งเสริมการไหลเวียนและการผ่านแดนของสินค้าที่มีความจำเป็น โดยให้สอดคล้องกับข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (TFA) ภายใต้ WTO (4) รับทราบข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนสำหรับการใช้มาตรการเปิดเสรีด้านภาษี และ (5) จัดตั้งกลไกการทราบเพื่อปรับปรุงข้อมูลและรายงานความคืบหน้าการดำเนินการข้างต้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563