คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอแนวทางการขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแปลกฎหมายและตรวจสอบรับรองคำแปลกฎหมายที่เสนอปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติต่อไป และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสามารถแก้ไขปรับปรุงแนวทางดังกล่าวในส่วนที่เป็นรายละเอียดและไม่กระทบหลักการสำคัญ และแจ้งเวียนให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
สคก. เสนอว่า
1. แนวทางปฏิบัติในการขอให้ สคก. แปลกฎหมายและตรวจสอบรับรองคำแปลกฎหมายที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะเป็นไปตามหลักการที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีกำหนด ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ สร. 0101/ว. 1982 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2510 ประกอบกับหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร. 0403/ว. 43 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2512 และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0405/ว 107 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ดังนี้
1.1 กฎหมายที่จะขอความร่วมมือจาก สคก. ช่วยแปลให้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่จำเป็นจริง ๆ
1.2 เพื่อความสะดวกในการแปล ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องส่งกฎหมาย และถ้อยคำที่แปลแล้วไปพร้อมกัน
2. เมื่อได้ตรวจสอบรับรองคำแปลใดแล้ว จะเผยแพร่คำแปลฉบับทางการไว้ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สคก. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ นับแต่มีการก่อตั้งประชาคมอาเซียน สคก. เห็นถึงความจำเป็นในการจัดทำคำแปลกฎหมายที่จำเป็นเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน แต่บุคลากรของ สคก. ไม่เพียงพอจะจัดทำคำแปลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว จึงได้ดำเนินการจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการ และลงเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สคก. ในลักษณะเป็นคำแปลอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 400 ฉบับ
3. ต่อมาพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งในมาตรา 36 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายใด ต้องจัดให้มีและเผยแพร่ข้อมูลคำแปลของกฎหมายนั้นเป็นภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียนไว้ในระบบกลาง (กรณีระบบกลางยังใช้งานไม่ได้ ให้เผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนั้นไปพลางก่อน) และในกรณีกฎหมายใดไม่มีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง ให้เป็นหน้าที่ของ สคก. ที่จะเป็นผู้จัดทำ ประกอบกับ สคก. ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้ออกหลักเกณฑ์การจัดทำคำอธิบาย
สรุปสาระสำคัญของกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 36 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในข้อ 5 และข้อ 6 (2) ของหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำคำแปลของกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษ โดยพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับรูปแบบคำแปลของกฎหมายที่ สคก. เผยแพร่ไว้ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และอย่างน้อยต้องมีข้อความเป็นหมายเหตุในคำแปล เพื่อให้เข้าใจว่าคำแปลนี้ใช้เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้ การอ้างอิงให้ใช้ตัวบทกฎหมายที่เป็นภาษาไทยเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับความมุ่งหมายของการจัดทำคำแปลกฎหมาย ซึ่งการจัดทำและเผยแพร่คำแปลกฎหมาย รวมถึงกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นด้วย โดยกำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไว้ด้วย
4. โดยที่แนวทางในการจัดทำคำแปลกฎหมายในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่หน่วยงานของรัฐจะส่งคำแปลมาให้ สคก. ตรวจสอบรับรอง มาเป็นการกำหนดเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนั้นจัดให้มีคำแปลและเผยแพร่คำแปลในระบบกลางหรือ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐไปพลางก่อนได้เอง โดยต่อมาได้มีการออกหลักเกณฑ์การจัดทำคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมถึงระยะเวลาในการจัดทำคำแปลให้แล้วเสร็จไว้ด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงแนวทางดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาว่าคำแปลที่หน่วยงานของรัฐจัดทำได้เองนั้น ยังจำเป็นจะต้องจัดส่งให้ สคก. ตรวจสอบรับรองก่อนที่จะลงเผยแพร่หรือไม่
นอกจากนี้อาจเกิดปัญหากรณี การเผยแพร่คำแปลในระหว่างที่ยังไม่มีระบบกลาง ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่จัดทำคำแปลสามารถเผยแพร่คำแปลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของตนได้ อันจะทำให้การเผยแพร่ข้อมูลคำแปลของประเทศไทยมีอยู่อย่างกระจัดกระจายตามระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานแต่ละแห่ง ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อการเข้าถึงกฎหมายของประชาชน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแนวทางการขอให้ สคก. แปลกฎหมายและตรวจสอบรับรองคำแปลกฎหมาย สำหรับให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขชอง สคก. และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 รวมทั้งเกิดความชัดเจนและเป็นระบบเดียวกัน อันจะทำให้การจัดทำคำแปลของกฎหมายและการเผยแพร่กฎหมายเพื่อบริการประชาชนมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้
4.1 ยกเลิกแนวทางการขอให้ สคก. แปลกฎหมาย ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ สร. 0101/ว.1982 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2510 และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ว 107 ลงวันที่ 18 เมษายน 2546
4.2 ให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำและเผยแพร่คำแปลกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและประกาศทุกฉบับที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นภาษากลางของอาเซียน ไม่ต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรับรองคำแปลอีก ทั้งนี้ ให้ระบุหมายเหตุท้ายคำแปลด้วยข้อความต่อไปนี้
?This translation is provided by (ชื่อหน่วยงานของรัฐฯ เป็นภาษาอังกฤษ) as the competent authority for information purposes only. Whilst (ชื่อหน่วยงานของรัฐฯ เป็นภาษาอังกฤษ) has made efforts to ensure the accuracy and correctness of the translation, the original Thai text as formally adopted and published shall in all events remain the sole authoritative text having the force of law.?
4.3 ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานจัดทำคำแปลตาม 4.2 ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและให้เผยแพร่คำแปลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน กับให้จัดส่งคำแปลกฎหมายดังกล่าวมายัง สคก. เพื่อนำไปเผยแพร่ในระบบฐานข้อมูลกฎหมายกลางของประเทศด้วย
4.4 ให้ สคก. จัดทำคำแปลของกฎหมายที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดรับผิดชอบโดยตรง ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จัดทำคำแปลกฎหมายเพื่อประกอบการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมาย
4.5 ในกรณีที่ สคก. ตรวจสอบพบข้อผิดพลาดหรือผิดหลงของคำแปลของกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐจัดทำขึ้นและส่งมาเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สคก. หรือระบบกลาง ให้ สคก. แจ้งหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการแก้ไขและส่งคำแปลฉบับแก้ไขให้ สคก. เผยแพร่แทนคำแปลเดิม
4.6 ให้ สคก. พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการแปลกฎหมาย เช่น อภิธานศัพท์ ที่ใช้บ่อย รูปแบบประโยคมาตรฐาน เกณฑ์การแปลกฎหมายที่สำคัญ ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำด้านการแปลกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ เพื่อสร้างมาตรฐานงานแปลให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ตุลาคม 2563