คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของ อว. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข สามารถประกาศกำหนดมูลฝอยติดเชื้อประเภทหรือแหล่งกำเนิดอื่นเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545
2. กำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อที่มีการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิดต้องมีการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อทุกครั้ง
3. กำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อที่ขนมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดภายนอกหน่วยงาน ผู้รับขนมูลฝอยติดเชื้อ และผู้รับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ
4. กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานทางชีวภาพภายหลังการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID ? 19) ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศและมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดมูลฝอยติดเชื้อเป็นจำนวนมากจากการรักษาพยาบาลและการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ในสถานพยาบาลและห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย รวมถึงสถานพยาบาลชั่วคราว และสถานที่ซึ่งจัดไว้สำหรับการกักกันหรือแยกสังเกตอาการ และมูลฝอยติดเชื้อเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากจัดการไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งมูลฝอยติดเชื้อดังกล่าวในบางแหล่งกำเนิดไม่ได้นำมากำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 เนื่องจากความหมายของมูลฝอยติดเชื้อตามกฎกระทรวงไม่ครอบคลุมถึงมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดอื่น นอกจากนี้ การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโดยวิธีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำหรือวิธีทำลายเชื้อด้วยความร้อนนั้น กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้มีการตรวจสอบหลักเกณฑ์มาตรฐานทางชีวภาพด้วยวิธีการตรวจวิเคราะห์เชื้อบะซิลลัส สะเทียโรเธอร์โมฟิลลัส (Bacillus stearothermophilus) หรือบะซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) แต่ปัจจุบันมาตรฐานสากลได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อเชื้อที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวแล้ว และในอนาคตยังอาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อเชื้อตามสถานการณ์และองค์ความรู้ด้านวิชาการที่เปลี่ยนแปลงไป
2. ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อันเนื่องมาจากระบบควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อ ปัญหาระบบการจัดเก็บข้อมูลการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อจากทุกแหล่งกำเนิดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิดการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ จนนำไปสู่การร้องเรียนจากประชาชน เนื่องจากการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตการทางกฎหมายในการควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การขนส่งมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดถึงสถานที่กำจัดทั้งหมดและได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องและยังเป็นการป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อในระยะยาวต่อไป รวมทั้งแก้ไขวิธีการตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานทางชีวภาพให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข ครั้งที่ 123 ? 3/2563 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2. แล้ว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ตุลาคม 2563