บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรเกรตบริเตนและนอร์เทิร์นไอร์แลนด์เรื่องแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ

ข่าวการเมือง Monday October 12, 2020 17:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่สหราชอาณาจักรเกรตบริเตรและนอร์เทิร์นไอร์แลนด์เรื่องแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland on Better Health Programme) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์

1.1 เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) แผนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ภาคผนวก ก ข้อกำหนด) คู่ภาคีจะส่งเสริมความร่วมมือในการสนับสนุนแผนงาน เพื่อพัฒนาผลลัพธ์ทางสุขภาพในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

1.2 เพื่อส่งเสริมการเป็นพันธมิตรที่ยั่งยืนยาวนานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจรวมการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา หุ้นส่วนทางสุขภาพ อุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า

2. กิจกรรมเฉพาะที่จะดำเนินการตามกรอบความร่วมมือ

สาขาความร่วมมือของคู่ภาคีอาจรวมการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และกิจกรรมที่กำหนดใน 3 สาขาของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ภาคผนวก ก ข้อกำหนด) ดังนี้

2.1 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งชนิดต่าง ๆ และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง) : การต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยใช้นโยบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์และการรณรงค์เรื่องการป้องกันในสาขาเฉพาะ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ

2.2 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ : การเสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพของระบบการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาลในโรงพยาบาล โดยการใช้รูปแบบและมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีที่สุด

2.3 การศึกษาและการฝึกอบรม : การเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ ผ่านข้อกำหนดการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยใช้รูปแบบการปฏิบัติที่ดีที่สุดทั้งดิจิทัลและมิใช่ดิจิทัลในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งอาจรวมถึงแนวปฏิบัติและแนวทางการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ทั้งนี้คู่ภาคีจะสนับสนุนเพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำประเด็นความครอบคลุมเรื่องเพศ และสังคมมาพิจารณาในกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น

3. สถานะ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นถ้อยแถลงแสดงเจตจำนง มิได้มีเจตนาเป็นเอกสารที่มีความผูกพันทางกฎหมายและไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างคู่ภาคี

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ