คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 52 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 ? 29 สิงหาคม 2563 ผ่านการประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของผลการประชุมฯ สรุป ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 52 มีผลการประชุมที่สำคัญ เช่น
1.1 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2563 โดยอาเซียนดำเนินการแล้วเสร็จ 2 จาก 13 ประเด็น ได้แก่ การจัดทำดัชนีวัดการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียนและการจัดตั้งเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมในอาเซียน
1.2 แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และการตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในการจัดทำกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน
1.3 เร่งรัดให้สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียนภายในปี 2563 เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเริ่มกระบวนการให้สัตยาบันความตกลงการค้าบริการอาเซียนและมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
1.4 เร่งรัดให้บรูไนดารุซซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนเพื่อให้สามารถมีผลใช้ได้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 เดือนพฤศจิกายน 2563
1.5 เน้นย้ำความสำคัญของการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะการผลักดันการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่
2. การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 34 มีผลการประชุมที่สำคัญ เช่น
2.1 ข้อตกลงที่ได้ข้อสรุปและพร้อมจะลงนามภายในปีนี้ ได้แก่ ข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้างและการทบทวนข้อตกลงยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและรับรองของอาเซียน
2.2 ประเด็นที่ได้ข้อสรุปแล้ว ได้แก่ กรอบความตกลงอาเซียนด้านยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน
2.3 รับทราบการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนเพื่อแลกเปลี่ยนใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ซึ่งได้เริ่มการทดสอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของใบขนสินค้าอาเซียนและหนังสือรับรองด้านสุขอนามัยพืชแล้ว) การเริ่มใช้แนวปฏิบัติเรื่องการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของอาเซียน และการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนให้เสร็จในปี 2564
3. การหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา มีผลการประชุมที่สำคัญ เช่น
3.1 รัฐมนตรีของกลุ่มประเทศที่เจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สามารถสรุปประเด็นที่เหลือทั้งหมดและให้เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบและขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ยังยืนยันเป้าหมายที่จะให้ลงนามความตกลงฯ ในการประชุมผู้นำประเทศสมาชิก RCEP ครั้งที่ 4 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และกำหนดจะจัดประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 เพื่อหาข้อสรุปทั้งหมดและเตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับการลงนาม
3.2 ผลการหารือในประเด็นระหว่างอาเซียนและประเทศต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
(1) อาเซียน-จีน เห็นชอบการพิจารณาการเปิดเสรีการค้าสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้การยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน
(2) อาเซียน-เกาหลี เห็นพ้องการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี และได้รับรองร่างเอกสารข้อริเริ่มร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและเกาหลีในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
(3) อาเซียนบวกสาม รับรองแผนปฏิบัติการของอาเซียนบวกสามว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
(4) อาเซียน-ฮ่องกง รับทราบการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง
(5) อาเซียน-อินเดีย มีความเห็นต่างในเรื่องการเริ่มกระบวนการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย โดยอาเซียนต้องการให้มีการหารือเพื่อกำหนดขอบเขตของการทบทวนให้ชัดเจนก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ในขณะที่อินเดียเรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเริ่มเจรจาทบทวนความตกลงฯ ทันที โดยมีเป้าหมายลดการขาดดุลการค้ากับอาเซียนเป็นหลัก
(6) อาเซียน-แคนาดา รับทราบแนวทางการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงอาเซียน-แคนาดา ได้แก่ การจัดทำเอกสาร Reference Paper ที่ระบุถึงขอบเขต ความคาดหวัง และข้อบทที่คาดว่าจะบรรจุไว้ในความตกลงภายในเดือนมกราคม 2564 และการพิจารณาผลตาม Reference Paper เกี่ยวกับการเปิดการเจรจาภายในเดือนสิงหาคม 2564
4. การหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการและข้อเสนอแนะของ ASEAN-BAC โดยเฉพาะแนวทางดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจของอาเซียนฟื้นตัวภายหลักการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และการลดต้นทุนการค้าภายในอาเซียน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ตุลาคม 2563