ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Monday October 12, 2020 17:35 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ รง. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง และ สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 ดังนี้

1. กรณีผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 70 บาท หรือเดือนละ 100 บาท ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีตาย ดังนี้

1.1 เงินค่าทำศพในอัตรา 25,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท ให้จ่ายแก่บุคคลตามลำดับ ดังนี้ (ก) บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน (ข) สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน (ค) บุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

1.2 เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย จำนวน 8,000 บาท จากเดิม 3,000 บาท ต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนถึงแก่ความตาย โดยให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้ทำหนังสือระบุไว้ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน

2. กรณีผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีตายเป็นเงินค่าทำศพในอัตรา 50,000 บาท จากเดิม 40,000 บาท ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือนก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ทั้งนี้ รง. เสนอว่า

1. โดยที่อัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนเกี่ยวกับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตาย สำหรับบุคคลซึ่งมิใช่ลูกจ้าง แต่สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของสังคม ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของสังคมในปัจจุบัน เห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนการจ่ายเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบอัตราการจ่ายเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์

ผู้ประกันตน

1. ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 70 บาทหรือเดือนละ 100 บาท ถึงแก่ความตายให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย

อัตราเดิม

  • ค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์ จำนวน 3,000 บาท

อัตราใหม่

  • ค่าทำศพ จำนวน 25,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์ จำนวน 50,000 บาท

2. ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ถึงแก่ความตายให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย

  • ค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท
  • ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท

2. ในคราวประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 17/2562 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับแก้ไขเพิ่มเติมอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีถึงแก่ความตาย โดยเพิ่มเงินค่าทำศพกรณีผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 70 บาท หรือเดือนละ 100 บาท ถึงแก่ความตายให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย จาก 20,000 บาท เป็น 25,000 บาท และเพิ่มเงินสงเคราะห์จาก 3,000 บาท เป็น 8,000 บาท และเพิ่มเงินค่าทำศพกรณีผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ถึงแก่ความตายให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย จาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท แล้วแต่กรณี

3. รง. ได้ดำเนินการประมาณการรายรับของกองทุนประกันสังคมจากการจัดเก็บเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 รวมผู้ประกันตนทั้งหมด จำนวน 3,353,939 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2563) และจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนปี 2562 จำนวน 1,557 ล้านบาท และเงินสมทบรัฐบาลจำนวน 779 ล้านบาท มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายเป็นเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ประจำปี 2562 จำนวน 200 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. คาดว่าจะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย เพิ่มขึ้นในปี 2563 ? 2564 เป็นปีละประมาณ 77 ล้านบาท และ 93 ล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ รง. ได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว

จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ