คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 4/2563 ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ ดังนี้
ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ) ครั้งที่ 4/2563 วันที่ 7 ตุลาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นั้น ฝ่ายเลขานุการฯ ขอสรุปสาระสำคัญและมติที่ประชุม ดังนี้
1. เรื่องเพื่อทราบ
1.1 ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1.1.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และภาพรวมเศรษฐกิจ เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 36,038,360 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 311,613 คน และมีผู้เสียชีวิต 1,054,543 คน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นสะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่ยังเพิ่มขึ้นในระดับสูงในหลายประเทศ ขณะที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับ การระบาดระลอกที่สอง
อย่างไรก็ดี ภายใต้การแพร่ระบาดที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ในหลายประเทศ ส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทาง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global PMI) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2563 มีสัญญาณของการฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจทั้งด้านการใช้จ่ายและด้านการผลิต โดยเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ มีแนวโน้มหดตัวน้อยลง อาทิ มูลค่าการส่งออกสินค้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและดัชนีการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งจำนวนบริษัทที่ขอปิดกิจการ
นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุนยังขยายตัวสูง สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศพบว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมเฉลี่ยทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2563 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังไม่ครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดที่ห่างจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในส่วนของข้อมูลด้านแรงงานพบว่าเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากจำนวนผู้ใช้สิทธิตามมาตรา 75 (กรณีหยุดงานชั่วคราวเหตุไม่สุดวิสัย) ที่ลดลงต่อเนื่อง
1.1.2 ข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจรายสาขาจากภาคเอกชน เสนอโดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนเศรษฐกิจรายสาขา ภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วยข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจในภาพรวมจำนวน 6 ด้าน ซึ่งหลายมาตรการรัฐบาลได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว
ประกอบด้วย (1) เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และจัดตั้งกองทุนพิเศษ การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ การขยายเวลาชำระหนี้สำหรับธุรกิจ การขยายการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และการปรับโครงสร้างหนี้
(2) ลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่าย อาทิ การลดภาษี การยกเว้นการจัดเก็บภาษี การให้นำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษี การลดหรือการยกเว้นค่าปรับและค่าธรรมเนียมของภาครัฐ การเร่งรัดการจ่ายเงินภาครัฐ การขยายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาแรงงาน (3) กระตุ้นตลาดและการใช้จ่ายของผู้บริโภค อาทิ การสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) ให้เป็นวาระแห่งชาติ และการส่งเสริมด้านการตลาดและการใช้จ่าย
(4) รักษาการจ้างงานและยกระดับฝีมือแรงงาน อาทิ การรักษาการจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน (5) กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ อาทิ การขยายสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน การจูงใจให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ การอำนวยความสะดวกให้ผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ และ (6) ลดอุปสรรคจากการดำเนินงานภาครัฐ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และการสร้างระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนเศรษฐกิจรายสาขายังได้เสนอมาตรการเศรษฐกิจเฉพาะสาขาธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมภาคการผลิตที่สำคัญ อาทิ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคการค้า และภาคบริการ
1.1.3 ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจ
1.1.3.1 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยมาตรการ 3 ระยะ ดังนี้ (1) การเยียวยาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ได้แก่ ลูกหนี้รายย่อย รวมมูลค่าสินเชื่อ 3.84 ล้านล้านบาท จำนวน 10.97 ล้านบัญชี ลูกหนี้ SMEs รวมมูลค่าสินเชื่อ 2.14 ล้านล้านบาท จำนวน 1.12 ล้านบัญชี และลูกหนี้ภาคธุรกิจ (Corporate) รวมมูลค่าสินเชื่อ 0.92 ล้านล้านบาท จำนวน 37,114 บัญชี (2) สถาบันการเงินติดตามดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ติดต่อลูกหนี้ ไปเยี่ยมกิจการ เพื่อประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาด รวมทั้งจัดทำช่องทางให้ลูกหนี้แจ้งสถานะและความประสงค์ในการรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น และ (3) การเตรียมมาตรการรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะต่อไป โดยลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ DR BIZ ซึ่งเป็นระบบ One Stop Service ให้ลูกหนี้ได้ติดต่อเจ้าหนี้เพื่อแก้ไขหนี้เดิมได้สะดวกยิ่งขึ้นและมีโอกาสได้สินเชื่อใหม่
1.1.3.2 มาตรการด้านแรงงาน เสนอโดยกระทรวงแรงงาน ผลการดำเนินงานโครงการล้านงานเพื่อล้านคน ประกอบด้วย (1) งาน Job Expo Thailand 2020 ล้านงานเพื่อล้านคน ระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 กันยายน 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีตำแหน่งงานที่รองรับรวมทั้งสิ้น 1,495,225 อัตรา และมีผู้เข้าร่วมงานทั่วประเทศจำนวน 125,383 คน มีผู้ที่สนใจติดตามงานตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งสิ้น 2,254,712 คน/ครั้ง โดยมีสถานประกอบการที่มาออกบูธ 501 แห่ง มีตำแหน่งงาน 100,012 งาน ผู้สมัครงาน 143,066 ครั้ง และมีการจับคู่ระหว่างตำแหน่งงานและผู้สมัครงาน 57,226 อัตรา และ (2) เวบไซต์ไทยมีงานทำ ข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2563 มีตำแหน่งงาน 733,633 อัตรา ผู้สมัครงาน 112,806 ครั้ง และมีการจับคู่ระหว่างตำแหน่งงานและผู้สมัครงานทั้งสิ้น 45,112 อัตรา และสำหรับมาตรการอุดหนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่ มีตำแหน่งงานทั้งสิ้น 74,351 อัตรา มีผู้สมัครงานทั้งสิ้น 39,033 คนและมีการจับคู่ระหว่างตำแหน่งงานและผู้สมัครได้ทั้งสิ้น 31,876 อัตรา ทั้งนี้ รวมทุกมาตรการสามารถจับคู่ตำแหน่งงานได้ทั้งสิ้น 134,214 อัตรา สำหรับกิจกรรมรวมใจสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การแนะแนวอาชีพและทดสอบความถนัดทางอาชีพ การอบรมพัฒนาทักษะอาชีพและเตรียมความพร้อม และการฝึกอาชีพอิสระ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 3,391 คน
1.1.3.3 มาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart visa) เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมีความคืบหน้าการปรับปรุงมาตรการ Smart Visa ที่สำคัญ ดังนี้ (1) ปรับปรุงขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กว้างขึ้น ไม่จำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการพัฒนาและบริหารกิจการที่เกี่ยวข้องกับ Startup Ecosystem และนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาอื่นนอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) เพิ่มเติมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ไม่มีสัญญาจ้างงานในประเทศ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงบางกลุ่มในธุรกิจวิสาหกิจและขนาดย่อม (SMEs) และผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน และวุฒิการศึกษาของผู้บริหารระดับสูง และ (4) การอนุญาตให้ผู้ถือ Smart Visa ทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับการรับรองได้ในบางกรณี โดยให้สามารถทำงานในกิจการอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหรือความเชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองได้ อาทิ กิจการในเครือ และกิจการที่มีความเชื่อมโยงหรือสนับสนุน เป็นต้น
1.1.3.4 โครงการคนละครึ่ง เสนอโดยกระทรวงการคลัง ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2563 ของการลงทะเบียนร้านค้าโครงการคนละครึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 มีรายละเอียดดังนี้ (1) กิจการลงทะเบียนรวมทั้งหมด 210,010 ร้าน แบ่งเป็น กิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ จำนวน 152,795 ร้าน กิจการที่รอดำเนินการตรวจสอบ จำนวน 56,465 ร้าน และกิจการไม่เข้าข่ายเงื่อนไขของโครงการ จำนวน 750 ร้าน (2) กิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จแบ่งออกเป็นกิจการที่มีหน้าร้าน จำนวน 127,852 ร้าน และหาบเร่และแผงลอย จำนวน 24,943 ร้าน (3) ประเภทของกิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 90,052 ร้าน ส่วนร้านธงฟ้า มีจำนวน 41,331 ร้าน ร้าน OTOP จำนวน 4,991 ร้าน และร้านค้าทั่วไป จำนวน 16,421 ร้าน และ (4) กิจการที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง จำนวน 73,092 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 34.8 รองลงมาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 73,092 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 25.0 และภาคใต้ จำนวน 37,229 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 17.7 โดยในรายจังหวัดนั้นพบว่า กิจการที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 25,526 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 12.2 รองลงมาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 7,105 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 3.4 และจังหวัดสงขลา จำนวน 6,516 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 3.1
1.1.4 ความคืบหน้ามาตรการด้านการท่องเที่ยว เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
1.1.4.1 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2563 มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 5.27 ล้านคน และมีผู้ใช้สิทธิแล้ว 1,406,808 คืน และมีสัดส่วนจาก รัฐสนับสนุน 1,537.2 ล้านบาท สำหรับมูลค่ายอดใช้จ่าย E-Voucher รวมทั้งหมด 916.4 ล้านบาท มีสัดส่วนจากรัฐสนับสนุน 345.7 ล้านบาท ขณะที่ตั๋วเครื่องบินมีผู้ใช้สิทธิแล้ว 51,753 สิทธิ ซึ่งมีสัดส่วนรัฐสนับสนุน 43.9 ล้านบาท สำหรับมูลค่ายอดใช้จ่ายภายใต้โครงการนี้รวมจำนวนทั้งหมด 5,096.5 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ยอดมูลค่าโรงแรมที่พักจำนวน 4,049.7 ล้านบาท และสายการบิน 130 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยว 3,169.7 ล้านบาท และจากรัฐบาล 1,926.8 ล้านบาท
1.1.4.2 โครงการกำลังใจ มีบริษัทนำเที่ยวเข้าร่วม จำนวน 3,959 บริษัท นักท่องเที่ยวเข้าร่วม จำนวน 379,771 คน และมีสัดส่วนรัฐสนับสนุน 759,542,000 บาท
1.1.4.3 แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แจ้งความประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทยภายใต้ STV จากภูมิภาคต่าง ๆ รวม 1,615 คน แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก จำนวน 924 คน ภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ จำนวน 229 คน ภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง จำนวน 462 คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวซึ่งสอบถามจำนวนเบื้องต้นจากภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง จำนวน 500 คน และจากภูมิภาคอเมริกา จำนวน 69 คน โดยในปัจจุบันมี 5 จังหวัดที่สามารถรองรับการกักตัวได้ ซึ่งแบ่งเป็นโรงแรมในกรุงเทพมหานครที่ผ่านการตรวจประเมิน Alternative State Quarantine (ASQ) จำนวน 84 แห่ง และโรงแรมในชลบุรี บุรีรัมย์ ภูเก็ต และปราจีนบุรีที่ผ่านการตรวจประเมิน Alternative Local Quarantine (ALQ) จำนวน 11 แห่ง
1.1.4.4 โครงการ Thailand Elite Member Quarantine (TEM-Q) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกที่อยู่นอกประเทศไทยประมาณ 7,000 คน นั้น พบว่ามีสมาชิกที่ตอบรับโครงการ TEM-Q และนำส่งกระทรวงต่างประเทศผ่าน ททท. แล้ว จำนวน 448 คน สมาชิกที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงต่างประเทศแล้วจำนวน 304 คน สมาชิกที่ได้รับ Certificate of Entry และเที่ยวบินจำนวน 49 คน สมาชิกที่เดินทางถึงประเทศไทยแล้วและอยู่ในระหว่างการกักตัว จำนวน 35 คน และสมาชิกที่เสร็จสิ้นการกักตัวในเดือนกันยายนทั้งสิ้น 14 คน
1.1.4.5 โครงการกระตุ้นการเดินทาง Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ โดยเชิญชวนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ องค์กร และหน่วยงาน ร่วมซื้อแพคเกจในโครงการพร้อมสิทธิพิเศษอื่น ๆ มากมาย ทั้งนี้ หน่วยงานเข้าร่วมโครงการจะได้รับของรางวัล Certificate และ โล่ประกาศเกียรติคุณจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
1.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ภาพรวมเศรษฐกิจ ข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจรายสาขาจากภาคเอกชน และความคืบหน้าของมาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ มาตรการด้านแรงงาน (งาน Job Expo Thailand 2020 และเวบไซต์ไทยมีงานทำ) มาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart visa) และมาตรการด้านการท่องเที่ยว (โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจ การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA โครงการ Thailand Elite Member Quarantine และโครงการกระตุ้นการเดินทาง Workation Thailand)
1.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1.3.1 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจรายสาขาของภาคเอกชน และให้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนวทางการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ศบศ. ต่อไป
1.3.2 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจและยังคงรักษาระดับการจ้างงานต่อไปได้ โดยมุ่งเน้นการหาแนวทางการช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มาตรการพักชำระหนี้กำลังจะสิ้นสุดลง ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ศบศ. ต่อไป
1.3.3 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือรายละเอียดตามแนวทางการปรับปรุงมาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart visa) เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว
1.3.4 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยทำการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งให้ทั่วถึงทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
2. เรื่องเพื่อพิจารณา
2.1 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช้อปดีมีคืน เสนอโดยกระทรวงการคลัง
2.1.1 รายละเอียดมาตรการ
วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น และส่งเสริมการอ่าน โดยเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ประกอบการค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการที่ขายหนังสือและสินค้า OTOP โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน มาตรการจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ? 31 ธันวาคม 2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ทั้งนี้ หากประชาชนได้ใช้สิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้
2.1.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
เห็นชอบมาตรการช้อปดีมีคืน ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยให้ปรับวงเงินการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นรวมกันไม่เกิน 30,000 บาท และให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดมาตรการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2.1.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
มอบหมายให้ทุกหน่วยงานรวมถึงภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์มาตรการเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชนมากขึ้น
2.2 การปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกันและมาตรการกำลังใจ เสนอโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2.2.1 รายละเอียดการปรับปรุงมาตรการ
2.2.2.1 อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 570 คน และเจ้าหน้าที่หัวหน้างานสาธารณสุขมูลฐานและงานสุขภาพภาคประชาชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,615 คน ให้สามารถเข้าร่วมโครงการกำลังใจได้
2.2.2.2 อนุมัติให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันสามารถใช้บริการโรงแรมที่พัก และใช้ E-Voucher สำหรับค่าสนับสนุนอาหาร ค่าเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในจังหวัดภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านได้
2.2.2.3 อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการกำลังใจ และเราเที่ยวด้วยกัน ไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564
2.2.2.4 อนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณดำเนินโครงการกำลังใจ และ เราเที่ยวด้วยกัน ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
2.2.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกันและมาตรการกำลังใจ ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณาต่อไป
2.2.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
2.2.3.1 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการประเมินและรับรองสถานที่กักกันแห่งรัฐทางเลือก (ASQ) เพิ่มเติม และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วางแผนและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่
2.2.3.2 มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ เร่งรัดการอนุมัติให้คนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ อาจจะพิจารณาให้ผู้ยื่นเอกสารที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถยื่นเอกสารออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานทูต
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 ตุลาคม 2563