สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2563

ข่าวการเมือง Tuesday October 20, 2020 17:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ ดังนี้

1. รับทราบสรุปมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

2. เห็นชอบการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองพิกัดอัตราศุลกากร 2304.00.90 รหัสย่อย .02 เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค (รหัสสถิติ 002/KGM) และรหัสย่อย 29 เฉพาะที่นำเขามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ (รหัสสถิติ 090/KGM) (ไม่รวมกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์) คราวละ 3 ปี คือ ปี 2564 - 2566

3. เห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) (มาตรการ SSG) ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชรายงานว่า

1. เนื่องจากการเปิดตลาดและการบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองเฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค (รหัสสถิติ 002/KGM) และใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ (รหัสสถิติ 090/KGM)ปี 2561 - 2563 (ไม่รวมกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และการดำเนินการมาตรการ SSG ต้องมีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงการคลัง (กค.) รวมทั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ใช้กากถั่วเหลืองและมะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีวัตถุดิบป้อนโรงงานได้อย่างสม่ำเสมอและเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเปิดตลาด คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชจึงได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 สรุป ดังนี้

1.1 เห็นชอบการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองเฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นคราวละ 3 ปี คือ ปี 2564 - 2566 ดังนี้

1.1.1 การเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าภายใต้กรอบความตกลง WTO ปริมาณ 230,559 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 10 นอกโควตาร้อยละ 133 โดยมีการบริหารการนำเข้า ดังนี้

1) เป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเองและดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน

2) ให้นำเข้าเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืชและด่านอาหารและยาเท่านั้น

3) ผู้นำเข้ากากถั่วเหลืองเฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคจะต้องแสดงใบรับรอง Non - GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทาง

1.1.2 การเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่น

กรอบการค้า - ปริมาณ (ตัน)

1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) - ไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า

2) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) - ได้รับการยกเว้นการกำหนดปริมาณนำเข้า

3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) - ได้รับการยกเว้นการกำหนดปริมาณนำเข้า

4) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) - เป็นไปตามกรอบความตกลง WTO (230,559 ตัน)

5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) - เป็นไปตามกรอบความตกลง WTO (230,559 ตัน)

6) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี (TCFTA) - เป็นไปตามกรอบความตกลง WTO (230,559 ตัน)

กรอบการค้า - อัตราภาษี

1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) - ร้อยละ 0

2) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) - ร้อยละ 0

3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) - ร้อยละ 0

4) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) - ในโควตาร้อยละ 0 นอกโควตา ร้อยละ 133

5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) - ในโควตาร้อยละ 0 นอกโควตา ร้อยละ 133

6) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี (TCFTA) - ในโควตาร้อยละ 0 นอกโควตา ร้อยละ 133

กรอบการค้า - การบริหารการนำเข้า

1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) - แสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) เพื่อประกอบการนำเข้า

2) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) - ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการบริหารการนำเข้า

3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) - ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการบริหารการนำเข้า

4) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) - เป็นผู้ได้รับสิทธิการนำเข้าตามความตกลง WTO

5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) - เป็นผู้ได้รับสิทธิการนำเข้าตามความตกลง WTO

6) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี (TCFTA) - เป็นผู้ได้รับสิทธิการนำเข้าตามความตกลง WTO

1.1.3 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ภาษีร้อยละ 6 และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 2,519 บาท

1.1.4 มอบหมายให้กรมศุลกากร กค. จัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง (เกี่ยวกับอัตราภาษี) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

1.2 เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสรรปริมาณการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตามความตกลงการเกษตรภายใต้ WTO โดยให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาเรื่องกำลังการผลิตและการผลิตจริงในปัจจุบันของผู้ประกอบการที่ขอรับการจักสรรการนำเข้าเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรโควตาการนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.3 เห็นชอบการกำหนดกฎระเบียบการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลามะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่น ๆ (พิกัดอัตราศุลกากร 0801.12.00 0801.19.10 และ 0801.19.90 ตามลำดับ) ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งกรอบความตกลง WTO และ AFTA ตามข้อเรียกร้องเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้

1.3.1 กำหนดช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบความตกลง WTO ในโควตา และ AFTA ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ และเดือนกันยายน - ธันวาคม (รวม 6 เดือน) (จากเดิมเดือนมกราคม - พฤษภาคม และเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม) สำหรับกรอบความตกลง WTO นอกโควตา ไม่กำหนดช่วงเวลานำเข้า

1.3.2 กรณีที่นำมะพร้าวนำเข้าภายใต้กรอบความตกลง WTO ไปกะเทาะนอกโรงงาน ให้ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวจัดทำทะเบียนเครือข่ายผู้กะเทาะมะพร้าว (รายย่อย) และระบุทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งที่รับมะพร้าวผลนำเข้าไปกะเทาะและรายงานให้พาณิชย์จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบย้อนกลับกับเอกสารใบขนย้ายมะพร้าว เพื่อไม่ให้มะพร้าวนำเข้าที่นำไปกะเทาะนอกโรงงานออกไปหมุนเวียนในตลาดภายในประเทศ (เป็นการบริหารการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบความตกลง WTO เพิ่มเติมจากที่มีอยู่)

1.4 การบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลตามความตกลง AFTA ปี 2563

1.4.1 เห็นชอบช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวผลตามความตกลง AFTA ปี 2563 ในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม 2563 (รวม 4 เดือน) โดยจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้า ในอัตรา 1 : 2.5 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน) (เดิมสัดส่วน 1 : 2)

1.4.2 เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวพิจารณาจัดสรรปริมาณการนำเข้ามะพร้าวผลให้แก่ผู้มีคุณสมบัติและผู้มีสิทธินำเข้า (ตามข้อ 1.4.1) แล้วให้รายงานผลการพิจารณาให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชทราบ และแจ้งกรมการค้าต่างประเทศดำเนินการประกาศเกี่ยวกับช่วงเวลาการนำเข้าต่อไป

1.5 มาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง WTO และ AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าวปี 2563

1.5.1 เห็นชอบมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง WTO และ AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563 โดยมะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่น ๆ ที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume* ให้กรมศุลกากรจัดเก็บอากรการนำเข้า ดังนี้

ประเภทความตกลง

ภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตา

อัตราการเก็บอากร

ร้อยละ 72 (คำนวณจากอากรเดิมนอกโควตา

ร้อยละ 54 รวมกับเก็บอากรที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 18)

ภายใต้ความตกลง AFTA

อัตราการเก็บอากร

ร้อยละ 72 (เดิมนอกโควตาร้อยละ 0)

1.5.2 เห็นชอบปริมาณ Trigger Volume สำหรับปี 2563 จำนวน 335,926 ตัน โดยใช้ข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่น ๆ เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2560 - 2562) ทั้งนี้ เมื่อปริมาณการนำเข้าถึง Trigger Volume แล้ว หากพบว่า ปริมาณมะพร้าวในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการและการนำเข้ามะพร้าวไม่กระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ อาจพิจารณาไม่บังคับใช้มาตรการ SSG

1.5.3 เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติของมาตรการ SSG สินค้ามะพร้าว ปี 2563 ดังนี้

1) กรมศุลกากรดำเนินการส่งข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้ามะพร้าวให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทราบเป็นรายสัปดาห์ หากปริมาณการนำเข้าถึง Trigger Volume แล้ว ให้กรมศุลกากรดำเนินการจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้น

2) กรมศุลกากรปรับอัตราอากรสำหรับสินค้ามะพร้าวที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนดเป็นวันเริ่มใช้อัตราอากรสำหรับมาตรการ SSG หากนำเข้ามาก่อนวันที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนดให้ใช้มาตรการ SSG และยังไม่ได้จัดทำใบขนสินค้าขาเข้า ให้จัดเก็บอากรในอัตราเดิม

3) กรณีเรือลอยลำ สินค้าที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่กำหนดวันเริ่มใช้มาตรการ SSG ให้ผู้นำเข้าชำระอากรในอัตราใหม่ แต่หากพิสูจน์ได้ว่ามีการส่งออกจากท่าเรือต้นทางและมีการทำสัญญาระหว่างผู้ส่งและผู้รับไว้ก่อนหน้าวันที่กำหนดใช้มาตรการ SSG ให้ยกเว้นการขึ้นอากรตามมาตรการ SSG และให้สามารถขอคืนอากรในส่วนที่ชำระเกินไว้ได้

1.5.4 มอบหมายให้กรมศุลกากร กค. จัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง (เกี่ยวกับอัตราภาษี) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว

หมายเหตุ : * Trigger Volume คือ แนวทางในการใช้มาตรการปกป้องพิเศษสำหรับสินค้าเกษตรโดยใช้ปริมาณเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หากปริมาณสินค้าที่นำเข้าเกินกว่า Trigger Volume ประเทศผู้นำเข้าจะสามารถขึ้นภาษีเพื่อชะลอปริมาณการนำเข้าได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ