คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. 2562 - 2565 [(ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ] ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ศธ. [สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)] ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ (กรอบระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี) ซึ่งได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ตัวชีวัด และเป้าประสงค์ในแต่ละปี เพื่อเป็นแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะที่จำเป็นตรงตามความต้องการของภาคประกอบการและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ แล้ว และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการด้วยแล้ว โดยมีข้อสังเกตและประเด็นที่ ศธ. ควรมุ่งเน้นเพิ่มเติม ดังนี้ (1) ควรกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติให้มีความเท่าทันต่อบริบทการพัฒนาและความต้องการด้านทักษะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (2) ควรกำหนดรายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ในแต่ละระดับที่คำนึงถึงความสามารถรองรับเป้าหมายด้านวิชาการและการประเมินความเป็นมืออาชีพในวิชานั้น ๆ (3) ควรกำหนดเป้าประสงค์และตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนให้เห็นผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานทั้งระบบ และ (4) ควรมีการประสานความร่วมมือและสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและควรมีการดำเนินงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ซึ่ง สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการได้ดำเนินการปรับแก้ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ ตามข้อสังเกตของสภาพัฒนาฯ แล้ว
2. (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 วิสัยทัศน์และพันธกิจ
วิสัยทัศน์
กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นกลไกยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างกำลังคนคุณภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
พันธกิจ
1) สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ
2) พัฒนาต้นแบบการขับเคลื่อนการสร้างกำลังคนคุณภาพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
3) เสริมสร้างความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
4) ยกระดับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่มาตรฐานระดับอาเซียนและสากล
5) จัดทำ ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ
2.2 กลยุทธ์การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ
เป้าประสงค์
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง กำลังแรงงาน และหน่วยงานทุกภาคส่วนตระหนักถึงประโยชน์และคุณค่าของการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
ตัวชี้วัด
ร้อยละของนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง กำลังแรงงาน และหน่วยงานทุกภาคส่วนรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ภายในปี พ.ศ. 2565
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
1. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และจัดประชุมสร้างความเข้าใจเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
2. แสวงหาช่องทางการสื่อสาร การเผยแพร่ และรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงาน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สกศ. และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
กลยุทธ์ที่ 2 จัดทำต้นแบบการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
เป้าประสงค์
ต้นแบบการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบการเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและมาตรฐานอาชีพ และระบบการเทียบโอนประสบการณ์ รวมถึงบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดต้นแบบการผลิตและพัฒนากำลังคน การ Up - Skills และ Re - Skills
ตัวชี้วัด
1. ต้นแบบการผลิตและพัฒนากำลังคนที่เชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษาและระดับมาตรฐานอาชีพ
2. ร้อยละของกำลังคนที่ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้/หลักสูตรฝึกอบรมใน 7 สาขาอาชีพต้นแบบ* สาขาละไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของกำลังคนเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้
3. มีการผลิตและพัฒนากำลังคนใน 7 สาขาอาชีพต้นแบบรองรับแผนพัฒนาภาค ทั้ง 6 ภาค อย่างน้อยภาคละ 3 อาชีพ รวมเป็น 18 อาชีพ ภายในปี พ.ศ. 2565
4. ต้นแบบการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้/หลักสูตรฝึกอบรมใน 7 สาขาอาชีพที่ยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพ
5. มีแนวปฏิบัติการเทียบโอนประสบการณ์ การ Up - Skills และ Re - Skills จาก 7 สาขาอาชีพต้นแบบที่ดำเนินการนำร่อง
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
1. จัดทำแผนขับเคลื่อนกำลังคนใน 7 สาขาอาชีพที่จำเป็นต่อประเทศ ประกอบด้วย 1) โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน 2) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 3) หุ่นยนต์แลระบบอัตโนมัติ 4) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ 5) อาหารและเกษตร 6) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน และ 7) แม่พิมพ์
2. ทดลองนำร่องการผลิตและพัฒนากำลังคน
3. ดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนในประเด็นที่สำคัญ เช่น ศึกษาความต้องการกำลังคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ออกแบบการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ
4. สร้างความชัดเจนถึงรายละเอียดในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้/หลักสูตรฝึกอบรมและระบบการเทียบโอนประสบการณ์ การ Up - Skills และ Re - Skills
5. จัดทำคู่มือการดำเนินงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
6. จัดทำระบบฐานข้อมูลหลักสูตรที่ยึดโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและมาตรฐานอาชีพ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สกศ. สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) (องค์การมหาชน) และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
กลยุทธ์ที่ 3 เสริมสร้างความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
เป้าประสงค์
หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
ตัวชี้วัด
หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับบทบาทหน้าที่ให้สอดคล้องกับการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติภายในปี พ.ศ. 2565
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
1. ประสานการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
2. ผลักดันให้เกิดการปรับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคน
3. พัฒนานวัตกรรมคลังปัญญาในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF Intelligent Center) เพื่อจัดระบบเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สกศ. สกอ. สอศ. กศน. กพร. สคช. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) (องค์การมหาชน) สำนักงาน ก.พ. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
กลยุทธ์ที่ 4 เชื่อมโยงคุณวุฒิในสาขาอาชีพที่จำเป็นสำหรับการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยกับประเทศอาเซียนและระดับสากล
เป้าประสงค์
การเชื่อมโยงคุณวุฒิกับประเทศอาเซียนและระดับสากลในสาขาอาชีพที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย
ตัวชี้วัด
เกิดการเชื่อมโยงคุณวุฒิกับประเทศอาเซียนและระดับสากล ไม่น้อยกว่า 4 สาขาอาชีพ ภายในปี พ.ศ. 2565
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
1. จัดให้มีคณะทำงานเทียบเคียงและจัดทำรายงานเพื่อใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งดำเนินการเชื่อมโยงคุณวุฒิกับประเทศในอาเซียนและระดับสากล
2. นำร่องการเคลื่อนย้ายกำลังคนในสาขาอาชีพที่ได้ดำเนินการเชื่อมโยงคุณวุฒิเรียบร้อยแล้ว
3. ติดตามประเมินผลการนำร่อง และเตรียมผลักดันสาขาอาชีพอื่นที่มีศักยภาพในการแข่งขันต่อไป
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สกศ. สคช. และคณะอนุกรรมการเทียบเคียงคุณวุฒิสาขาอาชีพกับประเทศอาเซียนและสากล
กลยุทธ์ที่ 5 จัดทำ ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ
เป้าประสงค์
มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
ตัวชี้วัด
เกิดการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 5 เรื่อง ภายในปี พ.ศ. 2565
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนา ปรับปรุง ทบทวน กฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
2. จัดทำข้อเสนอและผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สกศ.
2.3 การติดตามและประเมินผล (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ มีดังนี้
2.3.1 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
2.3.2 จัดทำแผนปฏิบัติการตาม (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ โดยมีรายละเอียดขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการและงบประมาณรายปี
2.3.3 พัฒนากลไกในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ
2.3.4 จัดระบบฐานข้อมูลเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามประเมินผลการดำเนินการตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
2.3.5 ดำเนินการติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนและรายงานผลต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติทุก 6 เดือน
- 7 สาขาอาชีพต้นแบบ หมายถึง 7 สาขาอาชีพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 1) โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน 2) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 3) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ 5) อาหารและเกษตร 6) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน และ 7) แม่พิมพ์
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2563