คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย ? มีนบุรี (โครงการฯ) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 พฤษภาคม 2560) โดย รฟม. ได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ โดยขอเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26)1 ดังนี้
1.1 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01)
เหตุผลและความจำเป็น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 ให้ รฟม. เร่งรัดการแก้ไขปัญหาจุดเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยเฉพาะการกำหนดตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ของโครงการฯ ควรพิจารณาทางเลือกจุดที่ตั้งโดยไม่ใช้พื้นที่ของอุทยานมกุฏรมยสราญรวมทั้งการจัดให้มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานี PK01 กับสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีของโครงการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ)
ทางเลือกพื้นที่
รฟม. ได้ดำเนินการศึกษาสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินริมถนนรัตนาธิเบศร์แล้วพบว่า มีทางเลือกพื้นที่ที่สามารถกำหนดเป็นตำแหน่งที่ตั้งของสถานี PK01 ใหม่ จำนวน 3 ทางเลือก ได้แก่ (1) บริเวณด้านหน้าซอยรัตนาธิเบศร์ 4 (2) บริเวณด้านหน้าสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม และ (3) บริเวณด้านข้างสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม
ตำแหน่งที่ตั้ง
ทางเลือกที่ 1 บริเวณด้านหน้าชอยรัตนาธิเบศร์ 4 มีความหมาะสมมากที่สุดเนื่องจาก
- ขยับจากตำแหน่งเดิมไปทางขวา (ทิศตะวันออก) ประมาณ 337 เมตร บนถนนรัตนาธิเบศร์ จึงไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่อุทยานมกุฏรมยสราญ และไม่บดบังด้านหน้าอุทยานมกุฏรมยสราญ
- สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย ? ลำสาลี และสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี)
- การบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสามารถกำหนด
ระยะห่างระหว่างขบวนรถ (Headway) ต่ำ ในช่วงเวลาเร่งด่วนได้
- โครงสร้างสถานีอยู่บนแนวเส้นทางโครงการเดิม จึงสามารถคงระดับสถานีและทางวิ่งได้ตามเดิม ทำให้คงคุณภาพการบริการและความสะดวกสบายของผู้โดยสารในการเข้าออกสถานีได้ดีที่สุด (ในกรณีทางเลือกที่ 2 และ 3จำเป็นต้องยกระดับโครงสร้างสถานีและทางวิ่งให้สูงขึ้น เพื่อข้ามโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง)
- จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินของเอกชนบางส่วน เพื่อให้คงขนาดความกว้างทางเท้าไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร (รฟม. ได้ตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว)
การเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า
- โครงการฯ จะก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Skywalk) ระยะทาง 340 เมตร
พร้อมติดตั้งระบบทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) บนทางเดินยกระดับทั้งขาไปและขากลับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ ในการเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง
- ผลการศึกษาออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้กำหนดตำแหน่งสถานีต้นทาง (Terminal Station) อยู่ใกล้กับตำแหน่งสถานี PK01 ใหม่ ไว้แล้ว ทำให้ผู้โดยสารของทั้งสองโครงการสามารถเชื่อมต่อโดยตรงด้วยทางเดินยกระดับ (Skywalk) ระยะทางประมาณ 45 เมตร ประกอบกับจังหวัดนนทบุรีได้สงวนพื้นที่ราชพัสดุบริเวณที่จะก่อสร้างสถานีต้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลดังกล่าว เพื่อรองรับแนวคิดที่จะพัฒนาเป็นอาคารศูนย์เชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนไว้ด้วยแล้ว
การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
- การประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ จำนวน 250 ชุด ครอบคลุมประชาชนและผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ใกล้เคียงตำแหน่งสถานี
- การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งสิ้น 299 ราย โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 71.4) เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีมีความเหมาะสม เนื่องจากสะดวกในการมาใช้บริการห้างสรรพสินค้าและใกล้ที่พักอาศัยมากกว่า และคาคว่าจะมีผู้มาใช้บริการมากกว่าตำแหน่งเดิม
- หารือร่วมกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและผู้เช่าที่ดินที่ถูกเวนคืน จำนวน 6 ราย ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ขอให้พิจารณาลดขนาดพื้นที่เวนคืน และขอให้เปิดทางเข้า - ออกแปลงที่ดิน
- ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเป็นประธาน และมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบที่ตั้งตำแหน่งสถานี PK01 ใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงมาจากตำแหน่งเดิม รวมทั้งรับทราบรูปแบบการก่อสร้างโครงการ และการจัดให้มีทางเดินยกระดับ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) เชื่อมต่อโดยตรงกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง
1.2 สถานีนพรัตนราชธานี (PK26)
เหตุผลและความจำเป็น
กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกบริเวณหน้าโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี (ทางแยกจุดตัดถนนรามอินทรา) ซึ่งเป็นตำแหน่งของสถานี PK26 เดิม ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งของสถานี PK26 มีระยะห่างในแนวดิ่ง (Vertical Clearance) จากผิวถนนถึงโครงสร้างใต้สถานีไม่เพียงพอตามมาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร จึงจำเป็นต้องขยับตำแหน่งสถานี PK26 จากตำแหน่งเดิมไปทางซ้าย (ทิศตะวันตก) ของแนวเส้นทางโครงการประมาณ 313 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาไนติงเกล หมู่บ้านวิสุทธาวิลล์ และร้านอาหารเทอเรช 61
การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
- การประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ จำนวน 250 ชุด ครอบคลุมประชาชนและผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ใกล้เคียงตำแหน่งสถานี
- การสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งสิ้น 401 ราย โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74.6) เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีมีความเหมาะสมเนื่องจากตำแหน่งสถานีอยู่ใกล้ที่พักอาศัยทำให้มีความสะดวกในการมาใช้บริการ
- หารือกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 5 ราย เพื่อชี้แจงข้อมูลการออกแบบสถานี และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ถึงมกราคม 2561 โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขอให้ปรับรูปแบบสถานีให้ไม่มีโครงสร้างทางขึ้น ? ลงสถานีพาดผ่านหน้าหมู่บ้าน วิสุทธาวิลล์ และปรับลดแนวเวนคืนไม่ให้มีการเวนคืนที่ดินภายในรั้วบ้านหรือมีผลกระทบต่อตัวอาคารบ้านพักอาศัย ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ดำเนินการตามที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ร้องขอเรียบร้อยแล้ว
2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2562เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี(PK01) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในศูนย์ราชการและประชาชนที่มาติดต่อราชการได้ประโยชน์จำนวนมาก รฟม. ต้องมีเหตุผลที่จะสามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจได้อย่างชัดเจนและได้รับการยืนยันจากจังหวัดนนทบุรีว่า เพราะเหตุใดจึงต้องเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานี และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งมาอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าใกล้บริเวณสี่แยกแคราย และมีสะพานลอยข้ามแยก ซึ่งมีปัญหาจราจรติดขัดตลอดทั้งวัน จึงควรทบทวนว่าจะจัดการการจราจรบริเวณดังกล่าวอย่างไร เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด ซึ่ง กก.วล. ได้มีมติ ดังนี้
2.1 เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ในคราวประชุมครั้งที่ 38/2562 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ต่อรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ โดยให้ รฟม. รับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการ สำหรับการขอย้ายสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ในประเด็น ดังนี้ (1) การมีส่วนร่วมของประชาชน (2) การประชุมหารือศูนย์ราชการนนทบุรี (3) การจัดการจราจรในช่วงการก่อสร้างสถานีบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด และ (4) การกำหนดเวลาเปิด - ปิดการใช้งานทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) และ (5) การตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในช่วงการก่อสร้างโครงการของทั้งสองสถานี และดำเนินการ ดังนี้
2.1.1 ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
2.1.2 ให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการในข้อ 2.1.1
2.1.3 นำความเห็นของ กก.วล. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
2.2 มอบหมายให้ คค. โดย รฟม. ประชุมหารือศูนย์ราชการนนทบุรี และจังหวัดนนทบุรี เพื่อยืนยันเหตุผลในการขอย้ายสถานี PK01 ตามข้อกังวลของ กก.วล. ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. รฟม. ได้ดำเนินการตามความเห็นของ กก.วล. แล้ว ดังนี้
ความเห็นของ กก.วล. - การดำเนินการของ รฟม.
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติม
รฟม. ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ติดต่อราชการกับศูนย์ราชการนนทบุรีเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 385 ราย ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 93.0) แสดงความคิดเห็นว่าสถานี PK01 ใหม่มีความหมาะสม เนื่องจากไม่บดบังทัศนียภาพของอุทยานมกุฏรมยสราญ นอกจากนี้ยังลดปัญหาการจราจรบริเวณทางเข้า ? ออก ศูนย์ราชการนนทบุรีในช่วงก่อสร้าง
การประชุมหารือกับหน่วยงาน
ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการนนทบุรี
รฟม. ได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่ศูนย์ราชการนนทบุรี รวม 49 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.1) แสดงความคิดเห็นว่า ตำแหน่งสถานี PK01 ใหม่มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการลดปัญหาการจราจรบริเวณทางเข้า ? ออก ศูนย์ราชการนนทบุรี ประกอบกับตำแหน่งสถานีใหม่ไม่ใช้พื้นที่และไม่บดบังทัศนียภาพของอุทยานมกุฏรมยสราญ นอกจากนี้ การที่ รฟม. จะจัดให้มีทางเดินยกระดับ (Skywak) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ไปยังสถานีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งสองระบบ
การจัดการจราจรในช่วงการก่อสร้างสถานีบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด
กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทางบกจังหวัดนนทบุรี ว่าด้วยการปิดกั้นจราจรบนถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ และถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2562 เพื่อจัดการจราจรในช่วงการก่อสร้างสถานีบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเอสพลานาดด้วยแล้ว
การจัดให้มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ
รฟม. และผู้รับสัมปทานได้ออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ระยะทางประมาณ 340 เมตร มีความสูงประมาณ 12 เมตร ความกว้างประมาณ 10 เมตร รวมทั้งจัดให้มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ ความกว้าง 1.4 เมตร ทั้งขาไปและขากลับ ด้านละ 1 ตัว ซึ่งจะเปิดใช้งานตลอดช่วงเวลาที่เปิดให้บริการเดินรถ
การตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในช่วงการก่อสร้าง
รฟม. และผู้รับสัมปทานได้เพิ่มเติมแผนการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงการก่อสร้างบริเวณวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงการก่อสร้างสถานี PK01 และในช่วงการก่อสร้างบริเวณหมู่บ้านวิสุทธาวิลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงการก่อสร้างสถานี PK26 แล้ว
1 การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีไม่มีผลกระทบต่อกรอบวงเงินรวมของโครงการและผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้างสถานีดังกล่าว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2563