เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยจากโรคติดต่อเชื้อโคโรนาไวรัส COVID-19 และข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติตามสถานการณ์
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยจากโรคติดต่อเชื้อโคโรนาไวรัส COVID-19 และข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติตามสถานการณ์ของคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยจากโรคติดต่อเชื้อโคโรนาไวรัส COVID-19 และข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนภาคเกษตรภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติตามสถานการณ์ ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินงานระยะเฉพาะหน้าเร่งด่วน 2) แนวทางการปฏิบัติที่จะต้องดำเนินการระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง และ 3) แนวทางการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร
2. รองนายกรัฐนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
1. แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินงานระยะเฉพาะหน้าเร่งด่วน
1.1 การสร้างความตระหนักเรื่อง ?ทำการเกษตรอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ในฤดูกาลใหม่? เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าเกษตร โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข่าวสารผ่านทางออนไลน์ ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติของเกษตรกรและแรงงานในภาคการเกษตรให้ปลอดจากโควิด-19 ด้วยรูปแบบที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย และจัดทำมาตรการรองรับงานบริการตรวจสอบรับรองงานขึ้นทะเบียน ต่ออายุใบอนุญาต ออกใบรับรอง ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาขอรับบริการ
1.2 การดูแลค่าเช่าที่ดินทำการเกษตรให้เป็นธรรมและช่วยเจรจาผ่อนผันการจัดเก็บค่าเช่าชื้อที่ดินตามความจำเป็นของเกษตรกร มท. (โดยกรมการปกครอง) ได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมค่าเช่านา ฤดูการผลิตปี 2562/63 โดยสำรวจ ผู้เช่า/ผู้ให้เช่า การควบคุมค่าเช่านาให้เกิดความเป็นธรรม และมีการเจรจาขอลดค่าเช่านารวมพื้นที่ 186,383 ไร่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรให้สามารถนำเงินไปลงทุนดูแลปรับปรุงสภาพดินให้เหมาะสมกับการเกษตร
1.3 สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตในฤดูกาลใหม่อย่างเพียงพอและคิดดอกเบี้ยใน อัตราผ่อนปรน ทั้งอำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกรโดยตรงและผ่านสถาบันเกษตรกร ซึ่ง กษ. ได้ประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้กู้ยืม (ลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน) ในช่วง 1 พ.ค. - 31 ต.ค. 63 เพื่อช่วยเหลือด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พักชำระหนี้ ผ่อนผันการชำระหนี้ ส่วน กค. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตในฤดูกาลใหม่ตามโครงการสินเชื่อ SME เกษตร เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรที่ดีให้มีความเข้มแข็งและเป็นตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร
1.4 ส่งเสริมให้เกษตรกรขายผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรตรงถึงผู้บริโภคผ่านทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดรณรงค์ ?เที่ยวเมืองไทย กินของไทย? เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเน้นกระจายผลผลิตในท้องถิ่นอย่างครบวงจรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น การสั่งจองสินค้าประมงล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ Fisheries Shop LAZADA SHOPEE รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่นำสมัย รวมทั้ง หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ โรงพยาบาล หน่วยทหาร หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ รับซื้อผลผลิตจากชุมชนของเกษตรกรโดยตรง จัดโครงการ ?ร่วมค้าประชารัฐชุมชน? ปี 2563 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมาจำหน่าย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
1.5 พัฒนาความรู้และสร้างแรงจูงใจแรงงานคืนถิ่นในการประกอบอาชีพการเกษตร ทั้งแรงานในประเทศและผู้ที่กลับจากต่างประเทศ โดยจัดตั้ง ?ศูนย์บ่มเพาะ? เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถการทำเกษตรอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เสริมสร้างทักษะเป็นผู้ประกอบการ สนับสนุนเงินทุน โดยมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ?ศพก.? เป็นพี่เลี้ยงดำเนินกิจกรรมอบรมและสาธิตการเกษตรไทยด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
2. แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินงานระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง
2.1 จัดทำ ?ฐานข้อมูลทางด้านการเกษตร? สนับสนุนการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของรัฐในการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจการเกษตร พัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร (Big Data) โดยการจัดตั้งศูนย์ Big Data ด้านการเกษตร National Agricultural Big Data Center (NABC) ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 10 กระทรวง
2.2 สนับสนุนแรงงานคืนถิ่นโดยขึ้นทะเบียนและจำแนกแจกแจงข้อมูลแรงงานคืนถิ่นเพื่อการบริหารจัดการ กำหนดแผนงานและโครงการเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่นให้มีรายได้ กษ. ได้จัดอบรมเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและพัฒนาด้านการตลาดออนไลน์สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อจูงใจให้ไม่ละทิ้งถิ่นฐานหลังภาวะวิกฤต จัดทำโครงการ ?แรงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง? และการทำเกษตรกรรมยั่งยืนมาขยายผลโดยดำเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัด ส่วน รง. ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย (ด้านการต่างประเทศ) โดยมอบหมายให้สำนักงานแรงงานในต่างประเทศสร้างการรับรู้ อำนวยความสะดวก สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลของแรงงานไทยในต่างประเทศ
2.3 สนับสนุนการฟื้นฟูภาคเกษตรสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรณรงค์ ?ปลูกผักอยู่บ้าน สร้างแหล่งอาหาร สร้างงาน ต้านภัยโควิด-19? ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน 5 รูปแบบ (เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมชาติและวนเกษตร) และสนับสนุนเงินอุดหนุนให้กับสหกรณ์ จำนวน 1,162 แห่ง เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตรได้รับการลดภาระดอกเบี้ยและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพการเกษตร
2.4 ปรับภารกิจงานของหน่วยงานด้านการพัฒนาด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ตลอดห่วงโซ่โดยเน้นบูรณาการการปฏิบัติงานรวมกับภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เละเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ผ่าน www.ortorkor.com และ อ.ต.ก. delivery
2.5 เปลี่ยนถ่ายการบริหารจัดการองค์กรการเกษตรสู่ยุคดิจิทัลยกระดับการส่งเสริมและช่วยหลือเกษตรกรแบบครบวงจร โดยบริการแบบทางไกลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Tele-consultantation หรือ Tele-agricuture) รวมทั้งการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยคัดเลือกชุมชนกลุ่มเป้าหมายที่มีผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ?Digital Village by DBD? เพื่อผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์
2.6 จัดทำโครงสร้างระบบการสำรวจ ติดตาม เฝ้าระวังศัตรูพืชและศัตรูสัตว์ ทั้งที่มีอยู่เดิมในประเทศและอุบัติใหม่จากต่างประทศให้สามารถพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ เพื่อลดความสูญเสียผลผลิต ลดปัญหาการใช้สารเคมีเกินความจำเป็นและลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการควบคุมการระบาดของศัตรูได้ โดยมีอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) เป็นผู้มีหน้าที่ในการสำรวจติดตาม เฝ้าระวังและแจ้งข้อมูลในระดับชุมชน รวมทั้ง เพิ่มศักยภาพระบบงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร โดยส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร/ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการ (ขยายผลงานวิจัยภายนอกสู่ภาคเกษตร) ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่
2.7 จัดตั้ง ?กองทุนเพื่อการร่วมทุนภาคชนบท? โดย กค. มีแผนงานร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการภาคเกษตรไทย (Venture Capital: VC) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ SME เกษตร เพื่อดำเนินการสนับสนุนด้านการเงินในลักษณะ Equity Financing แก่ผู้ประกอบการ SME เกษตร และเพื่อพัฒนา ส่งเสริมศักยภาพ ยกระดับ SME เกษตรให้เติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้งได้เร่งรัดขยายผลระบบประกันภัยพืชผล (Crop Insurance System) และจัดให้มีระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Socal Safety Net) ที่เหมาะสมสำหรับภาคการเกษตร โดยจัดทำโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
2.8 เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานเพื่อการเกษตร ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทานตั้งแต่ต้นจนถึงปี พ.ศ. 2562 มีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 25 โครงการ ขนาดกลาง 850 โครงการ และขนาดเล็ก 19,638 โครงการ รวมทั้งขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 13,153 บ่อ
3. แนวทางการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร
3.1 แผนการปฏิรูปประเทศ (พ.ศ. 2561-2565)
3.1.1 ประเด็นปฏิรูปที่ 2.2 การสร้างและใช้ Big Data ภาคเกษตร มีนโยบายจัดทำ Big Data มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Famer ONE) และในปี 2562 ได้พัฒนาต่อยอดสู่โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ซึ่งได้มีการบูรณาการความร่วมมือจัดทำข้อมูลภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติร่วม 10 กระทรวง
3.1.2 ประเด็นปฏิรูปที่ 2.3 การพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานเพื่อการเกษตร มีการวางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 สนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งได้ 6,845,842 ไร่
3.1.3 ประเด็นปฏิรูปที่ 2.4 ส่งเสริม Smart farmer และ Precision farming ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อให้เกษตรกรทุกคนได้รับการพัฒนาเป็นเกษตรกรที่มีความพร้อมรับกับสถานการณ์ด้านการเกษตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการส่งสริม Smart Farmer และ Precision Farming และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเทคโนโลยีของภาคเอกชนต่อเกษตรกร โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ
3.1.4 ประเด็นปฏิรูปที่ 2.5 การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลและระบบเกษตรพันธสัญญา ได้ดำเนิการจัดทำกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จพร้อมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับแล้ว จัดทำทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยปัจจุบันได้รับแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว จำนวน 245 ราย
3.1.5 ประเด็นปฏิรูปที่ 2.6 การจัดตั้ง Centre of Excellence สำหรับภาคเกษตรโดยได้มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้ง เครื่องจักรกลเกษตร เป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด
3.2 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยพัฒนาการเกษตรให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องระบบการผลิต การตลาด องค์กรการเกษตร จัดทำมาตรการพลิกโฉมการเกษตรไทยก้าวสู่แนวเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับคุณค่าและมูลค่าสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของการผลิตในท้องถิ่น รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาการเกษตรในแต่ละรูปแบบของเกษตรกร
3.3 กรอบมาตรการ/แผนงาน/โครงการที่สำคัญ โดยปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรโดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำในระดับท้องถิ่นด้วยการจัดทำแผนบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนในระดับท้องถิ่นหรือระดับไร่นา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และจัดตั้ง ?กองทุนเพื่อการร่วมทุนภาคชนบท?เพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะและพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต ขยายผลโครงการประกันภัยพืชผลให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรทุกชนิดโดยพิจารณาออกกฎหมายเพื่อรองรับระบบการประกันภัยพืชผลเป็นการเฉพาะ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งตลาด รวมถึงมีแผนที่จะดำเนินการจัดตั้งตลาดกลางเพื่อกระจายสินค้าตามภูมิภาค ใน 2564 ยกระดับการจัดการโลจิสติกส์สินค้าเกษตรของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรด้วยการกระจายสินค้าเกษตรคุณภาพจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาให้มีการผลิต/แปรรูปสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet) จำนวน 70 แห่ง ใน 41 จังหวัด
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2563