การรับรองเอกสารผลการประชุมทางไกลรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (AMCA) ครั้งที่ 9 และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่เจรจา

ข่าวการเมือง Tuesday October 20, 2020 18:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 9 (Draft Joint Media Statement of the 9th AMCA) และเอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (The Narrative of ASEAN Identity)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมฯ รับรองร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (AMCA) ครั้งที่ 9 และเอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 24 ร่วมรับรองเอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (The Narrative of ASEAN Identity) ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 24 (24th Meeting of the ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

4. หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของเอกสารทั้งสองฉบับข้างต้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ก่อนจะมีการรับรองหรือเห็นชอบเอกสารดังกล่าวให้กระทรวงวัฒนธรรมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจะปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม AMCA ครั้งที่ 9 ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ซึ่งจะมีวาระการพิจารณาและรับรองเอกสารผลการประชุมจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่

1.1 ร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 9 (Draft Joint Media Statement of the 9th AMCA) (สถานะล่าสุด) มีสาระสำคัญในการแถลงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (AMCA) ครั้งที่ 9 โดยเน้นย้ำการแสวงหาแนวทางในการดำเนินกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะทั้งในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการดำเนินการตามแถลงการณ์และแผนงานต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและศิลปะระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) การประกาศให้จังหวัด เสียมราฐ เป็นเมืองวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN City of Culture) ระหว่างปี 2563 - 2565 โดยมุ่งหวังในการสนับสนุนวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ และความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม รวมทั้งการผลักดันเอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียนให้เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งคาดหวังว่าเอกสารดังกล่าว จะได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ตามลำดับต่อไป

1.2 เอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (The Narrative of ASEAN Identity) มีสาระสำคัญในการให้คำจำกัดความของ ?อัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity)? อันปรากฏตามเอกสารผลลัพธ์และกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ของอาเซียน โดยเน้นย้ำถึงความร่วมมือบนพื้นฐานของค่านิยมและเป้าหมายร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอัตลักษณ์อาเซียนจะทำให้ความเป็นสังคมอาเซียน (ASEAN Society) พัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งร่างเอกสารฯ ได้กำหนดว่า อัตลักษณ์อาเซียนประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) ค่านิยมที่สืบทอดกันมา (inherited values) อาทิ ความเป็นเอกภาพ ความเป็นเครือญาติ ความเชื่อในลัทธิภูติผี ความอดทนอดกลั้น ระบบการจัดองค์กร เอกภาพบนความหลากหลาย (2) ค่านิยมที่สร้างขึ้น (constructed values) อาทิ เพลงประจำอาเซียน กฎบัตรอาเซียน วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 แผนการดำเนินงานปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรม หรือ Bangkok Declaration (ค.ศ. 1967)

หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (AMCA) ครั้งที่ 9 รับรองเอกสารทั้ง 2 ฉบับเรียบร้อยแล้ว จะมีการเสนอเอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (The Narrative of ASEAN Identity) ดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนให้การรับรอง ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 จากนั้นจึงนำเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 รับรองตามลำดับต่อไป

2. โดยที่เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว เป็นเอกสารผลการประชุม AMCA ครั้งที่ 9 ซึ่งไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดผลผูกพันภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ