คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี จากเดิม 11 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2563) เป็น 13 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2565) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมจำนวน 9,078 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 [ตามมติคณะรัฐมนตรี (27 ตุลาคม 2552) และมติคณะรัฐมนตรี (7 พฤศจิกายน 2560)] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ใช้เป็นแหล่งน้ำด้านการเกษตรกรรม การอุปโภค บริโภค และการประปา ตลอดจนการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำสาขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา มีงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 รายการ ได้แก่ งานก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น ซึ่งปัจจุบันได้เปิดใช้งานและเก็บกักน้ำแล้ว และมีงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 รายการ รายละเอียดดังนี้
ลำดับ รายการก่อสร้าง
1. งานก่อสร้างระบบชลประทานฝั่งซ้าย สัญญาที่ 1
- คลองส่งน้ำสายใหญ่ ความยาว 46.968 กิโลเมตร
- คลองส่งน้ำสายซอย จำนวน 12 สาย ความยาวรวม 37.018 กิโลเมตร
- อาคารประกอบ
วงเงิน(ล้านบาท) 862.82
ระยะเวลาสัญญา 27 มีนาคม 2558 ? 16 เมษายน 2563
ผลงานสะสม(ร้อยละ) 78.66
2. งานก่อสร้างระบบชลประทานฝั่งซ้าย สัญญาที่ 1
- คลองส่งน้ำสายซอย จำนวน 25 สาย ความยาวรวม 102.697 กิโลเมตร
- อาคารประกอบ
วงเงิน(ล้านบาท) 369.41
ระยะเวลาสัญญา 23 มีนาคม 2560 ? 4 กรกกฎาคม 2563
ผลงานสะสม(ร้อยละ) 46.74
3. งานก่อสร้างระบบชลประทานฝั่งขวา
- คลองส่งน้ำสายใหญ่ ความยาว 14.569 กิโลเมตร
- คลองส่งน้ำสายซอย จำนวน 9 สาย ความยาวรวม 19.346 กิโลเมตร
- คลองระบายน้ำ ความยาวรวม 8.950 กิโลเมตร
วงเงิน(ล้านบาท) 215.69
ระยะเวลาสัญญา 23 มีนาคม 2560 ? 16 กันยายน 2562
ผลงานสะสม(ร้อยละ) 23.39
4. งานก่อสร้างระบบระบายน้ำฝั่งซ้ายพร้อมอาคารประกอบ
- คลองระบายน้ำฝั่งซ้าย จำนวน 9 สาย ความยาวรวม 28.49 กิโลเมตร
- อาคารประกอบ
วงเงิน(ล้านบาท) 75.90
ระยะเวลาสัญญา 14 กุมภาพันธ์ 2562 ? 6 สิงหาคม 2563
ผลงานสะสม(ร้อยละ) 35.15
รวม
วงเงิน (ล้านบาท) 1,523.82*
ผลงานสะสม (ร้อยละ) 60.27
- หมายเหตุ : กรอบวงเงินค่าก่อสร้างอยู่ภายใต้กรอบวงเงินโครงการฯ รายการระบบชลประทาน วงเงิน 1,595.48 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (7 พฤศจิกายน 2560)
2. กษ. รายงานว่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและการใช้ประโยชน์พื้นที่ของราษฎรเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ออกแบบก่อสร้างไว้เดิม กรมชลประทานได้มีการแก้ไขแบบก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราษฎรและเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชนในพื้นที่ ประกอบกับในขั้นตอนการจัดหาที่ดินมีเจ้าของทรัพย์สินส่วนหนึ่งไม่ยอมรับราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ภาครัฐกำหนด บางส่วนไม่ยินยอมให้เข้าใช้พื้นที่ รวมถึงที่ดินบางแปลงติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งในการดำเนินการจัดหาที่ดิน กรมชลประทานใช้วิธีเจรจาซื้อขายที่ดินจากราษฎรที่ถูกเขตชลประทานควบคู่กับการใช้พระราชกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทำให้การจัดหาที่ดินเกิดความล่าช้าส่งผลกระทบต่อแผนงานการก่อสร้างระบบชลประทานจึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาโครงการออกไป จากเดิม 11 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2563) เป็น 13 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2565) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิม จำนวน 9,078 ล้านบาท ทั้งนี้ กษ. โดยกรมชลประทานได้เสนอขอตั้งงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับการดำเนินงานไว้แล้วจำนวน 421.76 ล้านบาท และจะได้พิจารณาเสนอขอตั้งงบประมาณในส่วนที่เหลือจำนวน 396.73 ถ้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป โดยคาคว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทั้งหมด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ กรมชลประทานจะพิจารณางดค่าปรับตามสัญญากับผู้รับจ้างเนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2563