คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอ
ทั้งนี้ สตง. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 27 บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน และมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจัดทำแล้ว ให้แจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีทราบ ซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้จัดทำประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จแล้ว จึงได้เสนอประกาศคณะกรรมการฯ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยคำนึงถึงการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อส่งเสริมให้หน่วยรับตรวจปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 ? 2580 และแผนการปฏิรูปประเทศ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนการพัฒนาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เป็นองค์กรภาครัฐที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่
2. นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้จัดทำเป็นประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 เพื่อให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนการตรวจสอบและแผนการปฏิบัติราชการ อันจะส่งผลให้การตรวจเงินแผ่นดิน และการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดิน
2.1.1 การตรวจเงินแผ่นดินจะต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลมาตรฐานทางจริยธรรม และหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(2) การใช้จ่ายเงินตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
(3) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ (Public Private Partnership : PPP)
(4) การจัดหารายได้ การใช้จ่าย และการบริหารการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจที่เป็นเงินนอกงบประมาณ รวมถึงเงินสะสมหรือเงินอื่นใดที่มีอยู่ หรือสามารถนำมาใช้จ่ายได้
2.1.2 การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจ รวมถึงการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ
2.1.3 การให้คำปรึกษา แนะนำ หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังและงบประมาณแผ่นดินแก่หน่วยรับตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.1.4 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินและการบริหารจัดการองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.1.5 การให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินแก่ภาคประชาชน และ การเข้าถึงรายงานผลการปฏิบัติงานของ สตง.
2.2 ผลสัมฤทธิ์ในการตรวจเงินแผ่นดิน
2.2.1 การจัดหารายได้ การใช้จ่ายเงิน การบริหารการเงิน การคลัง และการก่อหนี้ของหน่วยรับตรวจเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ เพื่อให้การปฏิบัติงานของหน่วยรับตรวจมีข้อบกพร่อง หรือผิดพลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2.2.2 หน่วยรับตรวจมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
2.2.3 สตง. มีการบริหารจัดการองค์กรที่ดี และมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2.4 ภาคประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีจิตสำนึกในการสอดส่องดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ และสามารถเข้าถึงรายงานผลการปฏิบัติงานของ สตง. ได้โดยสะดวก
2.3 การดำเนินการเพื่อพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน
2.3.1 ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน
(1) ส่งเสริมการพัฒนาคู่มือและแนวทางการตรวจสอบให้สอดคล้องกับ การตรวจสอบแต่ละด้าน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561
(2) ส่งเสริมการประเมินผลและติดตามผลการควบคุมคุณภาพและระบบประกันคุณภาพของงานตรวจสอบของ สตง. เพื่อควบคุมคุณภาพ และติดตามผลการควบคุมคุณภาพงานตรวจสอบให้เป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
(3) พัฒนาแนวทางปฏิบัติในการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีเอกชน และพิจารณาการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีเอกชนต่อรายงานการเงินประจำปีของหน่วยรับตรวจ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินและมาตรฐานทางวิชาชีพบัญชี
(4) สนับสนุนการวางระบบและรวบรวมการให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ และตอบข้อสอบถามแก่หน่วยรับตรวจในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(5) พัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อประโยชน์ ในการวิเคราะห์ และการประเมินผลการปฏิบัติงานสำหรับใช้ในการวางแผนการตรวจสอบ
(6) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐระหว่างองค์กรอิสระและหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการตรวจเงินแผ่นดินร่วมกัน
(7) ส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐแก่หน่วยรับตรวจ รวมทั้งจัดให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยรับตรวจ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
2.3.2 ด้านวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(1) สนับสนุนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e- Learning) เพื่อเสริมสร้างทักษะประสบการณ์และเทคนิคขั้นสูงที่จำเป็นต่อการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมเพื่อพัฒนากลยุทธ์และเทคนิคการตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ การพัฒนาทักษะ ด้านดิจิทัล ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารกับหน่วยรับตรวจได้ อย่างเต็มประสิทธิภาพ และทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ
(2) ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของ สตง. และการพัฒนาวิชาชีพด้านการตรวจเงินแผ่นดินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บุคลากรของ สตง. มีความรู้ด้านกฎหมายและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และการบริหารการเงินการคลังภาครัฐ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเส้นทางความก้าวหน้าทางวิชาชีพ การใช้สมรรถนะในการแต่งตั้ง โยกย้ายบุคลากรและการวิเคราะห์และประเมินผลโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายใน สตง. ให้มีความเหมาะสม
(3) สนับสนุนการรักษาไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมของบุคลากร สตง. ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต รอบคอบ โปร่งใส เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามข้อกำหนดทางจริยธรรมที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด
(4) เสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดินกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อการส่งเสริมการรักษาวินัยการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ
(5) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการและประสบการณ์กับประเทศสมาชิกองค์การ : สถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEANSAI) องค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุด แห่งเอเชีย (ASOSAI) และองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (NTOSAI) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการตรวจเงินแผ่นดินให้ทันต่อการตรวจสอบในยุคดิจิทัล
(6) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการบริหารงานตรวจสอบ และการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลและระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบและข้อมูลภายในองค์กร
2.3.3 ด้านการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม
(1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายงานผลการปฏิบัติงานของ สตง. ได้
(2) ประชาสัมพันธ์ข่าวสารการตรวจเงินแผ่นดินอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
(3) ส่งเสริมการจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคล โดยมุ่งเน้นการรักษาระบบพิทักษ์คุณธรรมในการบริหารงานบุคคล พัฒนาหลักเกณฑ์และรักษาแนวปฏิบัติที่ดีในการสรรหา แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง การประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับภารกิจและบุคลากรเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงาน
(4) ส่งเสริมให้มีการศึกษารูปแบบแนวทางการปรับปรุงค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับภารกิจความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการและลูกจ้าง สตง.
(5) ปลุกจิตสำนึกและยกระดับคุณธรรมและจริยธรรมของบุคลากร สตง. ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต รอบคอบ โปร่งใส เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล และปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ตามข้อกำหนดทางจริยธรรมที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด
2.3.4 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
(1) พัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูล (Database Management System : DBMS) ที่ใช้ในการตรวจสอบของ สตง. ให้ทันสมัย และมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดี รวมทั้งพัฒนารูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
(2) พัฒนาระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สนับสนุนงานภายในองค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการดำเนินงานภายในองค์กรให้เป็นไปอย่างมีระบบ
2.3.5 ด้านการประชาสัมพันธ์การตรวจเงินแผ่นดิน
(1) มุ่งเน้นการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ข่าวสารในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การตรวจเงินแผ่นดินทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียผ่านทางสื่อออนไลน์ เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
(2) ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้โดยสะดวก และเกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ
(3) สร้างความร่วมมือกับสื่อดิจิทัล เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจบทบาทของ สตง. ในการเป็นองค์กรตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐ
2.3.6 ด้านการประสานงานและความร่วมมือกับต่างประเทศ
(1) สนับสนุนการทำหน้าที่คณะมนตรีองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board) วาระปี พ.ศ. 2562 ? 2568 และเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสมาชิก ASOSAI ในปี พ.ศ. 2564 ในฐานะประธานองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุด แห่งเอเชีย (Chairman of ASOSAI) วาระปี พ.ศ. 2564 - 2567
(2) สร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดินกับประเทศสมาชิกในองค์การสถาบันตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI) ในการพัฒนาผู้ตรวจสอบให้มีความเชี่ยวชาญในการตรวจเงินแผ่นดิน
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ สตง. เข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมขับเคลื่อน การพัฒนาองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI) องค์การสถาบัน การตรวจสอบสูงสุดภูมิภาคเอเชีย (ASOSOI) และองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดภูมิภาคอาเซียน (ASEANSAI)
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2563