คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และครั้งที่ 26/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสู่ Oleochemical แบบครบวงจรภายหลังผลกระทบ COVID - 19 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ จาก 22,500,000 บาท เป็น 22,064,600 บาท และให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พร้อมทั้งมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ
2. อนุมัติโครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการให้บริการของบุคลากรท่องเที่ยวไทย เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) โดยปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ จาก 72,000,000 บาท เป็น 66,681,600 บาท และให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ
3. อนุมัติโครงการพัฒนาเนินทรายงาม (Sand Dune) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตามเส้นทางท่องเที่ยว Scenic Route ของกรมการท่องเที่ยว กก. โดยปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ จาก 21,227,000 บาท เป็น 19,126,300 บาท และให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ
4. อนุมัติโครงการต้นแบบเพื่อยกระดับการให้บริการของสถานประกอบการสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ตามวิถีการท่องเที่ยวแนวใหม่ (New Normal Tourism Services) เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ของสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว (สป.กก.) กก. กรอบวงเงิน 4,059,800 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พร้อมทั้งมอบหมายให้ สป.กก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ
5. มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 1.1 ? 1.4 รับความเห็นและข้อสังเกตของ คกง. ไปพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการฯ ตามขั้นตอน (ถ้ามี)
6. รับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ของมหาวิทยาลัยมหิดล และผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ของจังหวัดตรัง จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดกระบี่ พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการดังกล่าวใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนต่อไป
คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และครั้งที่ 26/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ได้เห็นชอบโครงการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ จำนวน 4 โครงการ โดยมีสาระสำคัญของโครงการสรุปได้ ดังนี้
1. โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสู่ Oleochemical1 แบบครบวงจรภายหลังผลกระทบ Covid - 19 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี อว.
วัตถุประสงค์
- เพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเข้าสู่ระบบมาตรฐานที่สนับสนุนให้มีการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ตั้งแต่เกษตรผู้ผลิตทะลายปาล์ม โรงสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม (Roundtable on Sustainable Plam Oil - RSPO)
กิจกรรม
- เตรียมความพร้อมโดยให้ความรู้ จัดอบรม และเป็นพี่เลี้ยงเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม และโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันในพื้นที่เป้าหมายให้สามารถเข้าสู่มาตรฐาน RSPO
- จัดทำห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ รองรับการจัดทำมาตรฐาน RSPO และให้บริการวิเคราะห์คุณภาพปาล์มน้ำมันและ งานวิชาการให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการปาล์มน้ำมัน
- พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ Oleochemical ที่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ โดยประกอบเครื่องต้นแบบสกัดวิตามินเอ และอุปกรณ์กลั่นแยกกรดไขมันที่มีมูลค่าสูง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง
- พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ Oleochemical ที่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ อย่างน้อย 5 ผลิตภัณฑ์
- อบรมให้ความรู้กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้ที่สนใจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร กระบี่ ระนอง และนครศรีธรรมราช ไม่น้อยกว่า 200 ราย
งบประมาณ 22,064,600 บาท
กรอบระยะเวลา 1 ปี (ตุลาคม 2563 ? กันยายน 2564)
[1] Oleochemical หมายถึง การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์
2. โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการให้บริการของบุคลากรท่องเที่ยวไทย เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ของกรมการท่องเที่ยว กก.
วัตถุประสงค์
- เพื่อยกระดับคุณภาพและพัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการธุรกิจและบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal)
- เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย
กิจกรรม
- คัดเลือกจังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ
- จัดอบรมและมอบหมายผู้รับผิดชอบดำเนินงาน โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 7 กลุ่ม หลักสูตรการอบรม 18 ชั่วโมง (3 วัน) ครั้งละ 250 คน จำนวน 48 ครั้ง รวม 12,000 คน
งบประมาณ 66,681,600 บาท
กรอบระยะเวลา 1 ปี (ตุลาคม 2563 ? กันยายน 2564)
3. โครงการพัฒนาเนินทรายงาม (Sand Dune) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตามเส้นทางท่องเที่ยว Scenic Route ของกรมการท่องเที่ยว กก.
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเนินทรายงาม (Sand Dune) อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศต้นแบบ เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ตามเส้นทางท่องเที่ยว Scenic Route
- เพื่อส่งเสริมและสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (Thailand Riviera)
กิจกรรม
- จ้างที่ปรึกษาสำรวจและรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเนินทรายงามและพื้นที่เชื่อมโยง
- ก่อสร้างและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นขั้นพื้นฐานในแหล่งท่องเที่ยวเนินทรายงาม
- จัดอบรมบุคลากรทุกภาคส่วน จำนวน 8 ครั้ง โดยมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวนครั้งละไม่น้อยกว่า 50 คน
- จัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยว
งบประมาณ 19,126,300 บาท
กรอบระยะเวลา 1 ปี (ตุลาคม 2563 ? กันยายน 2564)
4. โครงการต้นแบบเพื่อยกระดับการให้บริการของสถานประกอบการสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ตามวิถีการท่องเที่ยวแนวใหม่ (New Normal Tourism Services) เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ของ สป.กก. กก.
วัตถุประสงค์
- เพื่อเตรียมความพร้อมให้ความรู้และยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้สามารถปรับปรุงสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA)
กิจกรรม
- ประสานและคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย 10 ประเภทกิจกรรมในแต่ละจังหวัด
- จัดอบรมผู้ประกอบการ 10 ประเภทกิจกรรม เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้สามารถปรับปรุงสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน SHA ในพื้นที่ 4 จังหวัด (จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง) ระยะเวลา 2 วัน
งบประมาณ 4,059,800 บาท
กรอบระยะเวลา 1 ปี (ตุลาคม 2563 ? กันยายน 2564)
5. แผนงานที่ 3.22 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดตรัง จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดกระบี่
คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 สิงหาคม 2563) อนุมัติโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของจังหวัดรวมทั้งสิ้น 157 โครงการ กรอบวงเงิน 884,625,068 บาท และมีมติ (25 สิงหาคม 2563) อนุมัติโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของจังหวัดรวมทั้งสิ้น 53 โครงการ กรอบวงเงิน 142,386,554 บาท โดยให้จังหวัดใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนต่อไป เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดตรัง จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดกระบี่ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น ดังนี้
(1) โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
หน่วยดำเนินงาน มหาวิทยาลัยมหิดล
ระยะเวลาดำเนินงาน สิงหาคม 63 ? สิงหาคม 64
วงเงิน (บาท) 1,200,000
(2) โครงการส่งเสริมการเกษตรตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เพื่อการท่องเที่ยว
หน่วยดำเนินงาน สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง
ระยะเวลาดำเนินงาน ตุลาคม 63 ? กรกฎาคม 64
วงเงิน (บาท) 3,750,000
(3) โครงการทอผ้าภูมิปัญญาปราจีนบุรี
หน่วยดำเนินงาน สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดปราจีนบุรี
ระยะเวลาดำเนินงาน ตุลาคม 63 ? กันยายน 64
วงเงิน (บาท) 620,300
(4) โครงการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวคุณภาพ จังหวัดกระบี่ (Krabi We Care)
หน่วยดำเนินงาน สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดกระบี่
ระยะเวลาดำเนินงาน ตุลาคม 63 ? มีนาคม 64
วงเงิน (บาท) 1,300,000
รวมกรอบวงเงิน
วงเงิน (บาท) 6,870,300
[2] แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชน ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานสุขภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2563