คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2563 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนี้
1.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ฯ ดังนี้
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 41,018,201 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมาก 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล
2) สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 3,709 ราย เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,259 ราย (ร้อยละ 33.94) หายป่วยแล้ว 3,495 ราย (ร้อยละ 94.23) เสียชีวิต 59 ราย (ร้อยละ 1.59) และกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 155 ราย (ร้อยละ 4.18)
2. ความคืบหน้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนโรคโควิด - 19 ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ทั่วโลกและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด - 19
โดยได้มีการทำความร่วมมือด้านการวิจัยกับต่างประเทศ จัดสรรงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต โดยสนับสนุน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด - 19 รวมถึงการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด - 19 ชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563
3. การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามแนวชายแดน ที่ประชุมรับทราบรายงานฯ ดังนี้
1) การสกัดกั้นและจับกุมบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
2) การตรวจกิจกรรมและสถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนคลาย
3) การกำหนดมาตรการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวเมียนมาในสถานประกอบการในลักษณะบูรณาการ โดยกรุงเทพมหานครและจังหวัด 70 จังหวัด ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการทั้งหมดที่มี การจ้างแรงงานชาวเมียนมา มีจำนวนทั้งสิ้น 106,208 แห่ง ดำเนินการออกตรวจแล้วจำนวน 963 แห่ง (ข้อมูลสะสมจำนวน 1,882 แห่ง) ดำเนินการตรวจคัดกรองโรคโควิด - 19 แรงงานชาวเมียนมาแล้ว จำนวน 9,231 คน (ข้อมูลสะสมจำนวน 12,068 คน) ดำเนินการสุ่มตรวจโรคโควิด -19 ของแรงงานชาวเมียนมาแล้ว จำนวน 1,496 คน ทั้งนี้ ไม่พบผู้ติดเชื้อ
4) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตามแนวชายแดน ซึ่งได้มีมาตรการสำหรับจังหวัดชายแดนที่มีช่องทางขนส่งสินค้า 27 จังหวัด และรับทราบประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ฉบับที่ 31/2563 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคโควิด - 19 โดยได้มีคำสั่งระงับการนำเข้า - ส่งออกสินค้าใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดตากและกาญจนบุรี เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19
4. รายงานความคืบหน้าการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมาย ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าฯ ดังนี้
1) การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของคณะมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ
2) การอนุญาตให้ลูกเรือสัญชาติบริติชและสัญชาติเช็กเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางน้ำ
3) การกำหนดประเทศและเมืองต้นทางที่ได้รับการผ่อนผันให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV)
4) การอนุญาตให้สายการบินทำการบินแบบมีผู้โดยสารเปลี่ยนลำ (Transfer Passenger)
5) การอนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
6) การอนุญาตให้ลูกเรือต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขึ้นเรือออกจากราชอาณาจักร (sign on)
7) การผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลเข้าประเทศไทยโดยเข้าสู่การกักกันตัวแบบ Wellness Quarantine
ข้อสังเกตที่ประชุม
เห็นควรให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาแนวทางการบริหารจัดการขั้นตอน กระบวนการสำหรับการอนุมัติ อนุญาตในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของนักธุรกิจต่างชาติ ให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยให้พิจารณาจัดกลุ่มนักธุรกิจและพิจารณามาตรการในการคัดกรอง กักตัวให้ชัดเจนและเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการค้าการลงทุนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย
5. ที่ประชุมเห็นควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 7) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
6. การขอเพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับผู้ชมกีฬา ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอการเพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับผู้ชมในสนามกีฬา โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนที่นั่งสำหรับผู้ชมกีฬา ดังนี้
สนามกีฬากลางแจ้ง
ลักษณะการเชียร์การเชียร์เสียงดัง
คำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 8ร้อยละ 25 (4,000 คน)
ข้อเสนอจำนวนผู้ชมในสนามกีฬาร้อยละ 50
ลักษณะการเชียร์การเชียร์เสียงไม่ดัง
คำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 8ร้อยละ 50 (6,000 คน)
ข้อเสนอจำนวนผู้ชมในสนามกีฬาร้อยละ 70
สนามกีฬาในร่ม
ลักษณะการเชียร์การเชียร์เสียงดัง
คำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 8ร้อยละ 15 (1,000 คน)
ข้อเสนอจำนวนผู้ชมในสนามกีฬาร้อยละ 30
ลักษณะการเชียร์การเชียร์เสียงไม่ดัง
คำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 8ร้อยละ 25 (2,000 คน)
ข้อเสนอจำนวนผู้ชมในสนามกีฬาร้อยละ 50
7. การใช้ Smart Band สำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ
โรคโควิด - 19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรายงานความคืบหน้า โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดเตรียม Smartband ในรูปแบบ Wristband ร่วมกับ Startup ของไทย ซึ่งสามารถใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 โดยมีคุณลักษณะการใช้งานเป็นอุปกรณ์สำหรับการใช้ติดตามตัวนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย โดยอุปกรณ์นี้สามารถทำให้ทราบสถานที่อยู่ของผู้สวมใส่ (Tracking) ได้ตลอดเวลา มีระบบการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอื่น ๆ หากนักท่องเที่ยวมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ระบบจะแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลและทีมแพทย์เพื่อเข้าดูแลเบื้องต้น ทำการตรวจเชื้อและเฝ้าดูอาการต่อไป และสามารถนำไปใช้ขอรับบริการภายในโรงแรมหรือขอความช่วยเหลือได้ เช่น การขอความช่วยเหลือกรณีหลงทาง เป็นต้น
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ในทุกมิติ ผ่านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษก ศบค. หรือสื่อโซเชียลมีเดีย รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนาการสร้างการรับรู้ในลักษณะ ศบค. Digital ต่อไป
2. ให้กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างแหล่งข่าวประชาชนตามแนวชายแดน ให้แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ในประเด็นต่าง ๆ เช่น ยาเสพติด การลักลอบ ค้ามนุษย์ การลักลอบนำเข้าสินค้าและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีการปิดด่านสินค้าชายแดน ให้พิจารณาบริหารจัดการตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
3. ให้กระทรวงแรงงานทำการส่งตัวแรงงานต่างด้าวที่พ้นการกักตัว 14 วันแล้ว เพื่อดำเนินการจัดจ้างงานในประเทศต่อไป
4. ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการ Transit Passenger เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเดินทางในระยะต่อไปด้วย โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
5. ให้กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดูแลควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จุดจอดเรือ (เช่น เรือยอร์ช เรือสำราญ เป็นต้น) ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาด โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานในการอำนวยการและบูรณาการการปฏิบัติของส่วนราชการดังกล่าว
6. ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 พิจารณาศึกษาเพิ่มเติมและกำหนดแนวทางการกักตัวแบบ Wellness Quarantine รูปแบบ Sport
7. ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดเกณฑ์การจัดกลุ่มประเทศเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำให้ชัดเจน โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อและมาตรการในการป้องกันโรค ของแต่ละพื้นที่และให้พิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศด้วย สำหรับบางประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ให้ใช้ข้อมูลในระดับมณฑลหรือเมืองประกอบการพิจารณา
8. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และเน้นย้ำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านการกีฬาและด้านการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชม ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) อย่างเคร่งครัด
9. ให้กระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม แอปพลิเคชัน Smart band เพื่อพัฒนาต่อยอดและใช้งานในอนาคตต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2563