คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 ภายใต้แนวคิด ?ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้
1. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดการประชุมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการรณรงค์ในการสืบสานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายอิทธิพล คุณปลื้ม) เป็นประธานฯ ทั้งนี้ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงประเพณีลอยกระทง การดูแลรักษาความปลอดภัยการรักษาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมฯ จำนวน 14 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า และกรมการขนส่งทางบก) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) สำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร (สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว และสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร) มูลนิธิ เมาไม่ขับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยที่ประชุมมีแนวคิดบูรณาการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งทุกหน่วยงานเห็นพ้องต้องกันในแนวคิด ?ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ด้วยเป็นแนวคิดที่ครอบคลุมการดำเนินงานที่เหมาะสม เนื่องในประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จึงได้ร่วมกันวางแนวทาง และมาตรการรณรงค์การสืบสานประเพณีที่ดีงามเหมาะสม เป็นไปตามคุณค่าสาระที่แท้จริง รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงประเพณีลอยกระทง ประจำปีพุทธศักราช 2563
2. ที่ประชุมบูรณาการการกำหนดแนวทางและมาตรการรณรงค์ ในการสืบสานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางและมาตรการรณรงค์เนื่องในประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 14 หน่วยงาน ได้เสนอดังนี้
2.1 แนวทางการดำเนินการในปีพุทธศักราช 2563 ภายใต้แนวคิด ?ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? สื่อความหมายได้ ดังนี้
(1) ลอยกระทงวิถีใหม่ หมายถึง การดำเนินการจัดงานตามมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข ขณะเดียวกัน ก็คำนึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีลอยกระทง และการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) สืบสานวัฒนธรรมไทย หมายถึง การอนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีลอยกระทง ที่ทรงคุณค่า สาระอันดีงาม และการปฏิบัติตามแบบของประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนถึงการแสดงออกที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีให้แก่กันและกัน และบรรยากาศแห่งการแสดงความกตัญญูต่อ ?น้ำ? และการแสดงออกต่อพระพุทธศาสนา ต่อพระแม่คงคา แม่น้ำ ลำคลอง ส่งเสริมคุณค่าต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อสังคม โดยการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์กระทง ซึ่งง่ายต่อการย่อยสลาย และเป็นมิตรต่อแม่น้ำลำคลอง ลดการใช้โฟม เพื่อดำรงประเพณีลอยกระทงซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยให้คงอยู่สืบไป
2.2 แนวทางและมาตรการรณรงค์ เพื่อดำเนินการประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563
(1) การรณรงค์เรื่อง ?ลอยกระทงวิถีใหม่? ประกอบด้วย
1.1 ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ร่วมกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีลอยกระทงอย่างชัดเจน และบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เช่น การห้ามปล่อยโคมลอยหรือยิงบั้งไฟ ในพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางการบินของเครื่องบินเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง การงดเล่นดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด รวมถึง การยิงปืนขึ้นฟ้าโดยไม่มีเหตุอันควร การรณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า ด้วยการงดจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมาในบริเวณงานหรือใกล้เคียง รวมถึง ชี้แจงแก่วัดต่าง ๆ ถึงการปล่อยโคมลอยเพื่อเป็นพุทธบูชา ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างเคร่งครัด
1.2 ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจราจรทั้งทางน้ำและทางบก ตรวจสอบความเรียบร้อยของยานพาหนะที่จะใช้รับส่งประชาชนในช่วงประเพณีลอยกระทง รวมถึง การตรวจสอบความพร้อมของโป๊ะและท่าเรือต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด พร้อมรับการใช้บริการจากประชาชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากที่สุด
1.3 ขอความร่วมมือผู้จัดงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข อาทิเช่น มีการจัดสถานที่เหมาะสมไม่แออัด มีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน รณรงค์สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำสะอาด สบู่เหลว ก่อนหรือหลังทำกิจกรรม
(2) การรณรงค์เรื่อง ?สืบสานวัฒนธรรมไทย? ประกอบด้วย
(2.1) ส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติแต่งชุดไทยเข้าร่วมประเพณีลอยกระทง ใช้วัสดุธรรมชาติ และย่อยสลายง่าย ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เช่น หยวกกล้วย กาบกล้วย ขนมปัง และใบตอง มาประดิษฐ์กระทง เพื่อร่วมกันรักษาและป้องกันการเกิดมลพิษต่อสายน้ำ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการงดใช้วัสดุย่อยสลายยากและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้แต่ละครอบครัว กลุ่มประชาชน หน่วยงาน ใช้กระทง 1 ใบ ตามแนวทาง ?1 ครอบครัว 1 กระทง? หรือ ?1 หน่วยงาน 1 กระทง? เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง
(2.2) ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ตามประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี วัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม ตามหลักประเพณีลอยกระทง โดยคำนึงถึงการจัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 14 หน่วยงาน มีความเชื่อมั่นว่า การประสานความร่วมมือในการบูรณาการแนวทางและมาตรการรณรงค์ ตามแนวคิด ?ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? จะก่อให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ตามแนวทางเดียวกับมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออนุรักษ์ สืบสานประเพณีลอยกระทง ให้คงคุณค่า สาระและความงดงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่สามารถแสดง ให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมการเพื่อป้องกันอุบัติภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการดูแลทรัพย์สิน สุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2563