คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ? 30 พฤศจิกายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 6) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการในด้านต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดฯ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในภาพรวมทั่วโลกยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรง และมีการแพร่กระจายในหลายภูมิภาค รวมทั้ง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่สองในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมาและมาเลเซีย ส่งผลให้มีแรงงานจากประเทศดังกล่าวลักลอบเข้ามาในประเทศผ่านทางช่องทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและความหวาดกลัวในการติดเชื้อ ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
2. ที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันมีการบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และมีการอนุญาตให้ชาวต่างชาติหลายกลุ่มสามารถเดินทางเข้ามาภายในราชอาณาจักรได้ ประกอบกับมีสถานการณ์การรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อชุมนุมประท้วงทางการเมือง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกที่สอง นอกจากนี้ ปัจจุบันการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการซึ่งยังต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงระยะหนึ่ง จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดฯ เพื่อกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวด อาทิ 1) การควบคุมการเดินทางเข้า - ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ 3) การกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่มีการบูรณาการกำลังจากพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง
3. ที่ประชุมยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เพื่อไม่ให้ผู้เห็นต่างนำไปเป็นเหตุในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล
4. สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2563