ผลการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน

ข่าวการเมือง Tuesday November 3, 2020 17:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน (การประชุมสมัยพิเศษฯ)

2. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ภายใต้แนวคิด ?การลดความยากจนและเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง : การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)? (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) และมอบหมายให้ มท. ดำเนินการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า
1. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในฐานะประธานการประชุมสมัยพิเศษฯ ได้จัดการประชุมดังกล่าวผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1.1 การประชุมสมัยพิเศษฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ซึ่งทุกประเทศจะต้องมีมาตรการเพื่อรองรับการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มคนยากจน เพราะเป็นความท้าทายใหม่ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญร่วมกันและมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเพื่อรองรับการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้ต่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่มคนยากจนให้สามารถปรับตัวได้เพื่อให้อาเซียนสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

1.2 เลขาธิการอาเซียนได้รายงานว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ส่งผลให้มีสัดส่วนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2558 เป็นร้อยละ 47 เนื่องจากผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งแรงงานในเมืองที่ตกงานจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ดังนั้น ประเด็นเรื่องความคุ้มครองทางสังคมและการรักษาความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นประเด็นที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ชุมชนในชนบทสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวได้

1.3 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศไทยในการขับเคลื่อน 3 มาตรการหลัก เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ตามข้อ 1.2 ดังนี้ (1) มาตรการทางการเงิน โดยการจ่ายเงินเยียวยาให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (แรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการ แรงงานอิสระ เกษตรกรและกลุ่มเปราะบาง จำนวน 30 ล้านคน) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) มาตรการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถูกเลิกจ้างงานและเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานภาครัฐจ้างงานทั่วประเทศภายใต้กรอบวงเงิน 86.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นการจ้างงานในท้องถิ่น และ (3) มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ โครงการ โคก - หนอง - นา โมเดล ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่โดยการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน และโครงการ Quick Win 90 วัน ปลูกผักสวนครัว นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ?ตู้ปันสุข? (Pantry of Sharing) ซึ่ง มท. ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดจัดให้มีตู้ปันสุขให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และวางระบบการดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข

1.4 สำนักเลขาธิการอาเซียนในฐานะเลขานุการการประชุมสมัยพิเศษฯ ได้จัดทำร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เพื่อให้ที่ประชุมดังกล่าวร่วมกันพิจารณาให้การรับรอง โดยประเทศไทยได้แจ้งที่ประชุมสมัยพิเศษฯ รับทราบในหลักการและขอดำเนินการตามกระบวนการภายในตามกฎหมายของประเทศในการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ดังนั้น ที่ประชุมสมัยพิเศษฯ จึงมีมติรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ และให้รอความเห็นชอบจากประเทศไทยก่อนที่จะเผยแพร่ถ้อยแถลงร่วมฯ ต่อสาธารณะ 2 ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

2.1 ที่ประชุมแสดงข้อห่วงกังวลเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ซึ่งทำให้มีประชากรโลกกว่า 100 ล้านคน เข้าสู่สภาวะยากจนอย่างรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อความหิวโหยในระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน [Sustainable Development Goals (SDGs)] ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ต้องหยุดชะงักไปรวมทั้งมีข้อห่วงกังวลว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่ประชากรส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงการทำเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพเป็นหลัก ตลอดจนการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานของคนยากจนก็ยังมีการเข้าถึงอย่างจำกัด

2.2 เพื่อขจัดความยากจนรวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวสู่การฟื้นตัวอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ ดังนี้

2.2.1 ปกป้องผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19

2.2.2 ส่งเสริมการดำรงชีวิตในชนบทและสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและระบบการผลิตอาหารให้สามารถขับเคลื่อนไปได้

2.2.3 สร้างความเชื่อมั่น/มีหลักประกันว่าทุกประเทศมีกรอบแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูประเทศที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับคนยากจน

2.2.4 ให้ความสำคัญกับข้อจำกัดที่สตรีและเยาวชนในชนบทต้องเผชิญ2.2.5 ส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชนบท 2.2.6 เสริมสร้างกรอบนโยบายเชิงบูรณาการเพื่อการเชื่อมโยงชนบท - เมืองในทุกระดับ ตลอดจนความร่วมมือข้ามภาคส่วนและระหว่างภาคส่วนในระดับอาเซียน 3. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ รวมทั้งไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ