คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2563 (ครบ 1 ปี) [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 1 ? 15 สิงหาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.1 การติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล พบว่า ประชาชนร้อยละ 78.6ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยแหล่งข้อมูลที่ติดตามมากที่สุดคือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 93.7) รองลงมา ได้แก่ อินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไชต์ เฟซบุ๊ค ไลน์ (ร้อยละ 50.1) ในขณะที่ประชาชน ร้อยละ 21.4 ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยให้เหตุผล เช่น ไม่สนใจ ไม่มีเวลา/ไม่ว่าง และไม่ชอบ
1.2 ความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด (ร้อยละ 33.4) และในระดับปานกลาง (ร้อยละ 48.0) ซึ่งนโยบายที่ประชาชนพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
1.3 เรื่องที่ชุมชน/หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ คนในชุมชนว่างงาน/ไม่มีอาชีพที่มั่นคง (ร้อยละ 29.9) สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง/ค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 18.7) สินค้าเกษตรกรราคาตกต่ำ/ต้นทุนการผลิตสูง (ร้อยละ 18.0) ภัยธรรมชาติ (ร้อยละ 16.7) และปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 7.3)
1.4 เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ ปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 41.2)ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง (ร้อยละ 20.4) ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ(ร้อยละ 19.1) จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค/แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร (ร้อยละ 11.5) และจัดสวัสดิการของรัฐให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ (ร้อยละ 8.5)
1.5 ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 29.8 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ48.7 เชื่อมั่นน้อยและน้อยที่สุด ร้อยละ 18.4 และไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 3.1 2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
2.1 ควรช่วยเหลือกลุ่มคนตกงาน/ว่างงาน โดยควรมีการดำเนินการเชิงรุกในระดับชุมชน/หมู่บ้าน เช่น การจ้างงานชั่วคราว การหาตลาดรองรับสินค้าของชุมชน การจัดอบรมวิชาชีพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่มีสวัสดิการด้านแรงงาน เช่น เกษตรกร ผู้มีอาชีพค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
2.2 ควรให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านค่าครองชีพ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น การควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและการลดค่าสาธารณูปโภค
2.3 ควรให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพ เช่น การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ การพยุงราคาสินค้าเกษตร และการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ (Smart farmer)
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563