ผลการสำรวจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19

ข่าวการเมือง Tuesday November 10, 2020 18:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอผลการสำรวจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด?19 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาในการสอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 46,600 คน ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน ? 7 กรกฎาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน

1.1 ความพึงพอใจในชีวิต พบว่า ประชาชนร้อยละ 72.5 มีความพึงพอใจในชีวิตอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 25.3 มีความพึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 2.1 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 0.1 ไม่พึงพอใจในชีวิตเลย ทั้งนี้ ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในด้านชีวิตครอบครัวมากที่สุด (7.5743 คะแนน) และให้คะแนนความพึงพอใจในด้านการเงินน้อยที่สุด (6.3892 คะแนน) คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 7.1786 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

1.2 ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนร้อยละ 53.0 มีความวิตกกังวลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 32.4 มีความวิตกกังวลปานกลาง ร้อยละ 12.0 มีความวิตกกังวลน้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 2.6 ไม่วิตกกังวลเลย ทั้งนี้ ประชาชนในภาคใต้ชายแดนมีความวิตกกังวลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ (ร้อยละ 69.6)

1.3 ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563) ประชาชนร้อยละ 90.0 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต การสูญเสียรายได้และโอกาสในการประกอบอาชีพ/การทำมาหากิน และผลกระทบทางด้านจิตใจ/อารมณ์ นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 46.3 มีรายได้ของครัวเรือนลดลง ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 44.1 มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

1.4 ผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนร้อยละ 81.9 เห็นว่ามีความรุนแรงอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดต่อประเทศ ร้อยละ 46.7 เห็นว่ามีความรุนแรงมาก-มากที่สุดต่อชุมชน/หมู่บ้าน และร้อยละ 41.7 เห็นว่ามีความรุนแรงมาก-มากที่สุดต่อตนเอง

1.5 ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนร้อยละ 71.7 มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 24.5 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 3.5 เชื่อมั่นน้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 0.3 ไม่เชื่อมั่นเลย คะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ย 7.1621 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน 2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

2.1 ควรมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนก และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2.2 ควรมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะไม่รุนแรง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดและป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำ

2.3 ควรมีการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดวิกฤตการณ์

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ