เรื่อง ผลการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง : การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง : การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Joint Statement of the High-level Video Conference on Belt and road International Cooperation : Combating COVID-19 with Solidarity) และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามตารางติดตามผลการประชุม ตามที่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
ภาพรวมของถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
(1) การแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการตรวจและรักษาโรคโควิด-19
(2) การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน
(3) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
(4) การพัฒนาช่องทางเร่งด่วนสำหรับนักธุรกิจ แรงงานมีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ และช่องทางสำหรับการค้าและขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน
(5) การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี
(6) การส่งเสริมความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล
(7) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย
(8) การระงับ/พักชำระหนี้ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตารางติดตามผลการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง : การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การมุ่งสู่เส้นทางสายไหมด้านสุขภาพ
1. ส่งเสริมความร่วมมือในการรับมือกับโรคโควิด-19
2. ส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะวัคซีน เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์
3. ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
4. สนับสนุนด้านสุขภาพที่จำเป็นต่อประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 รวมทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
- กระทรวงมหาดไทย (มท.)
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
- สำนักงานสภาพพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
- กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)
การยกระดับการเชื่อมโยง
1. ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนระดับโลกด้านการเชื่อมโยงและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทาน
2. สนับสนุนการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเปิดเส้นทางขนส่งต่าง ๆ
3. จัดตั้งช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของนักธุรกิจ แรงงานฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการค้าสินค้าและขนส่งข้ามพรมแดน
4. สนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เช่น การยอมรับร่วมกันของผลการตรวจสุขภาพและมาตรการกักตัวที่ได้รับการเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- กระทรวงคมนาคม (คค.)
- มท.
- กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
- กระทรวงการคลัง (กค.)
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
- สธ.
- กต.
- สศช.
การส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ
1. สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่เป็นสากล
2. รักษาห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและระดับโลก
3. ให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันที่ยุติธรรมและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
4. ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร
5. สนับสนุนการปรึกษาหารือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านยุทธศาสตร์ แผนงานและนโยบายการพัฒนาที่สำคัญ
6. สนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มเศรษฐกิจเปราะบาง
7. เสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษา และการพัฒนาฝีมือแรงงาน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- พณ.
- กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
- สธ.
- กค.
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ดศ.
- อว.
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- กระทรวงแรงงาน
- กระทรวงศึกษาธิการ
- กต.
การส่งเสริมความร่วมมือที่ปฏิบัติได้จริง
1. พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและระเบียงคมนาคมขนส่ง เขตเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางการค้าที่เป็นรูปธรรมภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
2. เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการที่ต้องมีความยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การคลัง การเงิน และสิ่งแวดล้อม ตามหลักการในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact)
3. สานต่อการนำฉันทามติที่ตกลงกันในการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ไปปฏิบัติร่วมกับประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี และพหุภาคีในสาขาต่าง ๆ
4. ดำเนินความร่วมมือตามแนวทางของการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อบรรลุการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- พณ.
- คค.
- อก.
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- สศช.
- กต.
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563