คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งในการปรับตัวรับ ภัยแล้ง และเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน รับรอง (ร่าง) ปฏิญญาฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขโดยไม่กระทบสาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของอาเซียนให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญของ (ร่าง) ปฏิญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคในการจัดการภัยแล้ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแผนงานประชาคมอาเซียนเพื่อปรับตัวเข้ากับภัยแล้ง การตั้งเครือข่ายและชุมชนเพื่อช่วยกันเตรียมพร้อม และปรับตัวภัยแล้งในภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) สนับสนุนแนวทางการพัฒนาระยะยาวแบบองค์รวมทั้งแนวทางกลยุทธ์รวมถึงกรอบการทำงานในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างการปรับตัวต่อภัยแล้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาวบนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคต ซึ่งรวมถึงการเตรียมตัว การตอบสนอง การบรรเทาภัยพิบัติ มาตรการฟื้นฟู นโยบายจัดการภัยแล้งแบบองค์รวม ยุทธศาสตร์ และการวางแผน
(2) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรสาขาต่าง ๆ ของอาเซียนเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเกษตร พลังงาน และน้ำ
(3) เพิ่มการส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในเรื่องการพัฒนางานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ (R&D) และการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง เช่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำ ความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะแห้งแล้ง การเก็บรักษา การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งรวมถึงแหล่งน้ำ) และการบริหารจัดการทางเลือกอื่น ๆ
(4) เพิ่มพูนศักยภาพบุคลากรของประเทศสมาชิกและภูมิภาคในการจัดการภัยแล้งซึ่งรวมถึงการนำระบบบริการความเสี่ยงและการปรับปรุงระบบการเตือนภัยแล้งล่วงหน้าและการบริหารจัดการภัยแล้ง เพื่อช่วยป้องกันและช่วยเหลือให้กับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและสิ่งแวดล้อม
(5) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการจัดการภัยแล้งข้ามพรมแดนผ่านกลไกที่มีอยู่ของอาเซียน
(6) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศทางเทคโนโลยี บนพื้นฐานของการเคารพในกฎหมายและข้อบังคับ แนวทางการปฏิบัติของรัฐสมาชิกแต่ละประเทศ และศึกษาบทเรียนที่เกี่ยวกับการจัดการภัยแล้งที่ต่างกันตามที่ตั้ง และส่วนต่าง ๆ ของภูมิภาค และเอกสารเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยแล้งและความสามารถในการฟื้นฟูในท้องถิ่น
(7) สนับสนุนเหล่าประเทศสมาชิกทุกประเทศให้มีนโยบายปรับตัวสู้ภัยแล้งบนพื้นฐานของกฎหมาย ความต้องการ ตามแนวทางของประเทศนั้น ๆ โดยพิจารณาดังต่อไปนี้
(7.1) การยกระดับการปรับตัวในระบบสำคัญเพื่อผลิตอาหารอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำ การผลิตพลังงานสะอาด การป้องกันพื้นดิน การทำลายระบบนิเวศวิทยา และการรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
(7.2) พยามยามนำเอาแนวทางปฏิบัติ ASEAN 2018 ในการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอาหารเกษตร และป่าไม้ (ASEAN-RAI) เพื่อบรรเทาสาธารณภัย ช่วยเหลือและปรับตัวต่อภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยอื่น ๆ
(7.3) พัฒนากฎหมายและกรอบนโยนบายที่เอื้อต่อเอกชนในการหาและประดิษฐ์สินค้าเพื่อการให้บริการที่มีความหลากหลายอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของการพิจารณาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของภัยแล้ง อุทกภัย และสภาพอากาศแปรปรวนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของข้อมูลสื่อสารและเทคโนโลยี
(7.4) ใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการประดิษฐ์เพื่อพัฒนาการเตรียมรับมือและตอบสนองต่อภัยแล้งผ่านทางการประเมินความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ มีการติดตาม การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การเสริมสร้าง และการฟื้นฟูการอุบัติซ้ำของภัยแล้งในอนาคต ผ่านการสนับสนุนทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยง
(7.5) ส่งเสริมการช่วยเหลือระหว่างกันในภูมิภาคและสากลเพื่อสร้างความสามารถให้แก่ประชาคมและประเทศสมาชิกในการแก้ไขและปรับตัวกับปัญหาภัยแล้ง
(8) ให้ความสำคัญกับการปรับตัวต่อภัยแล้งในระบบอาหาร น้ำ พลังงาน แผ่นดิน สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงระบบการติดตามภัยแล้ง รวมทั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวรับภัยแล้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อให้เกิดการปกป้องทางสังคม การคุ้มครองทางเศรษฐกิจและการวางแผนการลงทุน
(9) สร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและใช้ประโยชน์จากกระบวนการเก็บรักษาอาหารกรณีฉุกเฉินที่มีอยู่เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้งต่อความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563