คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารจะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารตามข้อ1 (19ฉบับ) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมลงนามในร่างตราสารฯ ตามข้อ 2 ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมิได้เป็นผู้ลงนามในร่างตราสารฯ อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือมอบอำนาจเต็ม (full powers) ให้แก่ผู้แทนเพื่อลงนามในร่างตราสารฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
1. ร่างปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 (Draft Ha Noi Declaration on the ASEAN Community?s Post-2025 Vision) เป็นเอกสารประกาศการเริ่มต้นกระบวนการหารือเพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยผู้นำอาเซียนจะสั่งการให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนกำกับดูแลกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ฯ และพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานระดับสูง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประชาคมอาเซียนทั้งสามเสา เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์
2. ร่างกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (Draft ASEAN Comprehensive Recovery Framework) และแผนการดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (Implementation Plan of ASEAN Comprehensive Recovery Framework) เป็นเอกสารวางแนวทางสำหรับการฟื้นตัวและสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวให้แก่อาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่ สาธารณสุข ความมั่นคงของมนุษย์ การส่งเสริมการค้าและตลาดอาเซียน ดิจิทัล และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง
3. ร่างปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการรับรองแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2021 ? 2025) (Draft Ha Noi Declaration on the Adoption of the Initiative for ASEAN Integration Work Plan IV (2021 ? 2025)) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ในการรับรองแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2021 ? 2025)
4. ร่างแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2021 ? 2025) (Draft Initiative for ASEAN Integration (IAI) Work Plan IV (2021 ? 2025)) เป็นเอกสารระบุแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับภูมิภาคของกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยคำนึงถึงผลกระทบจากประเด็นท้าทายใหม่ ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในอีกหลายปีข้างหน้า โดยแผนงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025
5. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนากรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน (Draft ASEAN Declaration on the Development of a Framework ASEAN Travel Corridor Arrangement) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนในการพัฒนากรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียนเพื่อเป็นกลไกในการอำนวยความสะดวกให้แก่การเดินทางด้านธุรกิจที่จำเป็นในภูมิภาค
6. ร่างปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานสังคมสงเคราะห์เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง (Draft Ha Noi Declaration on Strengthening Social Work towards Cohesive and Responsive ASEAN Community) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมงานสังคมสงเคราะห์ และเสริมสร้างบทบาทของงานสังคมสงเคราะห์ในการส่งเสริมและยกระดับการเข้าถึงที่เท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่มในสังคม โดยจะดำเนินการในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์ การสร้างมาตรฐานการรับรองวิชาชีพและการออกใบอนุญาต การสนับสนุนการทำงานร่วมกันของวิชาชีพ การพัฒนา และยกระดับเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์และเวทีการประชุมวิชาชีพในระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มทัศนคติเชิงบวกของงานสังคมสงเคราะห์และนักสังคมสงเคราะห์ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
7. ร่างเอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (Draft Narrative of ASEAN Identity) มีสาระสำคัญในการให้คำจำกัดความของ ?อัตลักษณ์อาเซียน? อันปรากฏตามเอกสารผลลัพธ์และกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ของอาเซียน โดยเน้นความร่วมมือบนพื้นฐานของค่านิยมและเป้าหมายร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอัตลักษณ์อาเซียนจะทำให้ความเป็นสังคมของอาเซียน (ASEAN Society) พัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งร่างเอกสารฯ ได้กำหนดอัตลักษณ์อาเซียนประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) ค่านิยมที่สืบทอดกันมา (inherited values) ได้แก่ ความเป็นเอกภาพ ความเป็นเครือญาติ ความอดทน อดกลั้น ระบบการจัดการองค์กร และเอกภาพบนความหลากหลาย และ (2) คุณค่าที่สร้างขึ้น (constructed values) อาทิ เพลงประจำอาเซียน กฎบัตรอาเซียน และวิสัยทัศน์อาเซียน
8. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล (Draft ASEAN Declaration on Digital Tourism) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการเพิ่มคุณค่าให้การท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล (Digital Tourism) รวมทั้งเสริมสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรด้านการท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม และนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผ่านความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างความปลอดภัย และความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนนำวิธีการเชิงดิจิทัลมาใช้สำหรับแก้ไขปัญหาในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
9. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (ค.ศ. 2021 ? 2025) (Draft Plan of Action to Implement the ASEAN-Chiba Strategic Partnership for Peace and Prosperity (2021 ? 2025) เป็นเอกสารกำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและจีนจะดำเนินการร่วมกันในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อปฏิบัติตามวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน ? จีน ค.ศ. 2030 ซี่งผู้นำอาเซียนและจีนได้รับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ? จีน ครั้งที่ 21 เมื่อปี 2561 และมีสาระครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยง เมืองอัจฉริยะ การพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียนและการลดช่องว่างด้านการพัฒนา ความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ และการติดตามและการนำแผนปฏิบัติการฯ ไปปฏิบัติ
10. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ ณ การประชุมสุดยอดอาเซียน ? สหรัฐฯ ครั้งที่ 8 (Draft Joint Statement on Human Capital Development at the 8th ASEAN ? U.S. Summit) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเน้นเรื่อง การศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ และศักยภาพในภาครัฐและสิทธิของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม
11. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน ? ญี่ปุ่น ครั้งที่ 23 ว่าด้วยความร่วมมือต่อเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด ? แปซิฟิก (Draft Joint Statement of the 23rd ASEAN ? Japan Summit on Cooperation on ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) เป็นเอกสารยืนยันวัตถุประสงค์และหลักการของเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด ? แปซิฟิก (AOIP) โดยตระหนักถึงความคล้ายคลึงของวัตถุประสงค์และหลักการของเอกสาร AOIP กับแนวคิด Free and Open Indo ? Pacific (FOIP) ของญี่ปุ่น และมุ่งส่งเสริมความร่วมมือผ่านกลไกอาเซียน ? ญี่ปุ่นที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้สาขาหลักที่กำหนดไว้ในเอกสาร AOIP ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยงระหว่างกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นที่เป็นไปได้
12. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน ? ออสเตรเลียรอบสองปี ครั้งที่ 2 (Draft Joint Statement of the Second ASEAN ? Australia Biennial Summit) เป็นเอกสารยืนยันการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งของทั้งสองฝ่าย และแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อตอบสนองต่อความ ท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-19 อีกทั้งเป็นการแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ? ออสเตรเลีย เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2564
13. ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระดับผู้นำอาเซียน ? นิวซีแลนด์ในโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน ? นิวซีแลนด์: สืบทอดความเป็นหุ้นส่วน ก้าวร่วมสู่อนาคต (Draft Joint ASEAN ? New Zealand Leader?s Vision Statement on the 45th Anniversary of ASEAN ? New Zealand Dialogue Relations: A Legacy of Partnership, A Future Together) เป็นเอกสารแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ โดยมีเนื้อหามุ่งขยายความเป็นหุ้นส่วนที่เน้นความร่วมมือใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ สันติภาพ ความมั่งคั่ง ประชาชน และโลก รวมถึงความร่วมมือด้านการฟื้นฟูเศรษฐภิจภายหลังโควิด-19
14. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนบวกสามเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ (Draft ASEAN Plus Three Leader?s Statement on Strengthening ASEAN Plus Three Cooperation for Economic and Financial Resilience in Face of Emerging Challenges) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้นำอาเซียนบวกสามในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามในด้านเศรษฐกิจและการเงิน บนพื้นฐานของความเข้มแข็งและต่อยอดความสำเร็จในอดีต และย้ำความมุ่งมั่นของประเทศอาเซียนบวกสามที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถและตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินในเอเชียตะวันออก รวมทั้งรักษาพลวัตของความร่วมมือเพื่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนบวกสาม อาทิ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)
15. ร่างปฏิญญากรุงฮานอยในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของการประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก (Draft Ha Noi Declaration on the Fifteenth Anniversary of the East Asia Summit) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และเสริมสร้างความเข้มแข็งของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่มีอาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ตลอดจนรักษาบทบาทสำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการรับมือกับพัฒนาการของภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยต่อยอดความสำเร็จในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาและกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตต่อไป
16. ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความยั่งยืนทางทะเล (Draft East Asia Summit Leader?s Statement on Marine Sustainability) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทางทะเลอย่างครอบคลุมและเป็นองค์รวมในภูมิภาค โดยสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และเอกสารสำคัญต่าง ๆ ในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยใช้กลไกที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางที่มีอยู่แล้ว รวมถึงมุ่งหวังที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทางทะเลและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในสาขาหลักที่ทุกประเทศให้ความสนใจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเล
17. ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจภูมิภาค (Draft East Asia Summit Leader?s Statement on Cooperation to Promote Steady Growth of Regional Economy) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้มั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค
18. ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกันในการป้องกันและรับมือกับโรคระบาด (Draft East Asia Summit Leader?s Statement on Strengthening Collective Capacity in Epidemics Prevention and Response) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือโรคติดต่อและโรคระบาดในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาศักยภาพในการจัดทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรและห้องปฏิบัติการวิจัยในภูมิภาค
19. ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Draft East Asia Summit Leader?s Statement on Women Peace and Security) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมบทบาทนำและการมีส่วนร่วมของสตรีในด้านสันติภาพและความมั่นคงในระดับประเทศและภูมิภาค โดยสนับสนุนข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง และต่อยอดถ้อยแถลงด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรีภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย ? แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) 2. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
2.1 ร่างตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Draft Instrument of Extension of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) กับสาธารณรัฐโคลอมเบีย
2.2 ร่างตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Draft Instrument of Extension of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ร่างตราสารทั้งสองฉบับเป็นตราสารที่จัดทำขึ้นเพื่อรับรองการเข้าร่วมเป็นอัครภาคีอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาดังกล่าวของสาธารณรัฐโคลอมเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2563 ประสงค์จะจัดพิธีลงนามตราสารขยายอัครภาคีฯ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563