ขอความเห็นชอบการรับรองเอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงานภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน

ข่าวการเมือง Tuesday November 10, 2020 19:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงาน จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

1. ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิและการคืนสู่สังคมของแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ร่างแผนงานอาเซียนว่าด้วยการขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็กภายในปี ค.ศ. 2025

3. ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการบูรณาการเพศภาวะให้เป็นกระแสหลักในนโยบายด้านแรงงานและการจ้างงานเพื่อมุ่งสู่งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

4. ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการประเมินความเสี่ยงอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับวิสาหกิจระดับกลางและขนาดย่อมของประเทศสมาชิกอาเซียน และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย รับรองเอกสารดังกล่าว

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสารทั้ง 4 ฉบับข้างต้น ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะประธานคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงานทั้ง 4 ฉบับ ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 24 และอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย รับทราบ (for notation) เอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงานทั้ง 4 ฉบับ ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

สาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์ด้านแรงงานทั้งสี่ฉบับ สรุปดังนี้
1. ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิและการคืนสู่สังคมของแรงงาน ต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers : ACMW) ค.ศ. 2018 - 2025 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิและการคืนสู่สังคมของแรงงานต่างด้าว ที่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้มั่นใจว่ากระบวนการเดินทางกลับและการคืนสู่สังคมจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ 5 หัวข้อ คือ

1) หลักการทั่วไป อาทิ หลักการด้านสิทธิ หลักการการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม การส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างด้าว การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น

2) แนวทางปฏิบัติ ประกอบด้วย แนวทางปฏิบัติในการพัฒนากลไกเชิงสถาบันและกฎหมายเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงาน กระบวนการส่งกลับแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ การคุ้มครองทางสังคม และการคืนสู่สังคมทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

3) กลไกสนับสนุนกระบวนการคืนสู่สังคม

4) กลยุทธ์การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ

5) การบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อรองรับการคืนสู่สังคม 2. ร่างแผนงานอาเซียนว่าด้วยการขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็กภายในปี ค.ศ. 2025 มีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งสู่การขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก (Worst Form of Child Labour : WFCL) ในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นการพัฒนาจากแผนอาเซียนสำหรับการขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก ค.ศ. 2016 สาระสำคัญของร่างแผนอาเซียนฯ ค.ศ. 2025 ประกอบด้วยประเด็นหลัก 3 ด้าน คือ

1) การห้ามการใช้แรงงานเด็กและการส่งเสริมธรรมาภิบาลเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก

2) การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก อาทิ การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน การขจัดความยากจน เป็นต้น และ

3) การคุ้มครองเด็ก ผ่านกระบวนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็ก โดยมุ่งเน้นการขยายและเพิ่มบทบาทความร่วมมือกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขา (sectoral body) ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหุ้นส่วนทางสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนร่างแผนอาเซียนฯ ค.ศ. 2025 โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดและกรอบระยะเวลาเพื่อติดตามและประเมินผล 3. ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการบูรณาการเพศภาวะให้เป็นกระแสหลักในนโยบายด้านแรงงานและการจ้างงานเพื่อมุ่งสู่งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดแนวทางในการบูรณาการความเสมอภาคทางเพศในนโยบายด้านแรงงานและการจ้างงานของประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยหัวข้อหลัก คือ

1) คำนิยามความเสมอภาคทางเพศ

2) มาตรฐานแรงงานสากลและกรอบแนวทางการจ้างงานที่มีคุณค่าบนพื้นฐานของความเสมอภาคทางเพศ

3) กลไกการติดตามและประเมินผลการบูรณาการความเสมอภาคทางเพศ อาทิ การส่งเสริมการจ้างงาน เงื่อนไขการทำงานเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงงานที่มีคุณค่า การคุ้มครองทางสังคมและสิทธิของลูกจ้างที่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ มุ่งเน้นการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women : CEDAW) อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ค.ศ. 1951 และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 เป็นต้น 4. ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการประเมินความเสี่ยงอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถประเมินความเสี่ยงหรืออันตรายได้อย่างเป็นระบบและมีเหตุผลรองรับในการบ่งชี้อันตราย ประเมินความเสี่ยง ควบคุมความเสี่ยง ตรวจสอบและทบทวนกระบวนการจัดการความเสี่ยงประกอบด้วยขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง 5 ขั้นตอน คือ 1) ระบุขั้นตอนหรือกระบวนการทำงาน

2) ระบุอันตรายที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้น

3) ประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากอันตราย

4) กำหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัย และ

5) ประเมินและทบทวนผลการดำเนินการตามมาตรการป้องกัน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563


แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ