ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 24 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Tuesday November 17, 2020 18:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 24 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 โดยมีที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญ
1. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 24
  • รับทราบประเด็นสำคัญได้แก่ (1) สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนและการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (2) วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน การเงินสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล และ (3) การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน ทั้งนี้ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศได้เน้นถึงการสร้างเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทานให้เป็นเป้าหมายหลักของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเตรียมรับสภาวะความปกติใหม่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายลง
  • รับทราบความคืบหน้าที่สำคัญของความร่วมมือด้านการคลังในอาเซียน ได้แก่

(1) ด้านศุลกากร สามารถเชื่อมข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกันได้ครบทั้ง 10 ประเทศ ผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวและปัจจุบันได้เริ่มกระบวนการทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมแล้ว และ (2) ด้านภาษีอากร ได้สรุปข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่ายของอาเซียนเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานของหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางออนไลน์เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้เผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ

  • ผู้แทนกระทรวงการคลังได้แจ้งให้ที่ประชุมราบถึงการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน วงเงินรวมไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งพันธบัตรดังกล่าวมีความสอดคล้องกับมาตรฐานพันธบัตรของอาเซียนตามแนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน
2. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 6
  • รับทราบประเด็นหลักเพื่อเป็นกรอบการดำเนินการ ปี 2563 ในด้านความร่วมมือด้านการเงินการคลัง ได้แก่ (1) การส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนในอาเซียน และ (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินในภูมิภาค
  • รับทราบประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงและนโยบายที่จำเป็นในการรับมือกับโควิด-19 ในอาเซียน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ยังได้เน้นย้ำในเรื่องการดำเนินมาตรการด้านการคลังอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น และการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน เป็นต้น
  • รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตาม Roadmap for Monetary and Financial Integration for ASEAN ของคณะทำงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) การพัฒนาตลาดทุน (2) การเจรจาเปิดเสรีบริการทางการเงิน (3) การประกันภัยอาเซียน (4) การรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (5) การเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (6) การเข้าถึงบริการทางการเงิน และ (7) ระบบการชำระเงินและธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งให้การรับรองรายงานของคณะทำงานเพื่อพัฒนาตลาดทุน เรื่อง การเงินที่ยั่งยืนในอาเซียน ซึ่งเป็นรายงานเพิ่มส่งเสริมการระดมทุนอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน และเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากรายงานดังกล่าวไปปรับใช้ได้
  • ผู้แทนกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินความร่วมมือด้านการเงินการคลังในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการเปิดเสรีบริการทางการเงิน การพัฒนาตลาดทุน และการเข้าถึงการบริการทางการเงินเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถก้าวผ่านความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันร่วมกัน
  • บรูไนดารุสซาลามในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพจัดการประชุมในปี 2564 แจ้งว่า มีกำหนดจะจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 25 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 7 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 26 ? 30 มีนาคม 2564 ณ บรูไนดารุสซาลาม
3. การประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • สภาธุรกิจอาเซียน ? สหภาพยุโรปเห็นว่าประเด็นด้านการเงินการคลังที่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน และ (2) การลงทุนด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน
  • สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา ? อาเซียน เห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการเงินและกระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการประกันภัยและภาคการธนาคารในยุคโควิด-19
  • สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนได้จัดทำแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาเซียนที่ชัดเจน ครอบคลุม และสามารถใช้ได้จริง เช่น การใช้นโยบายทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถดำเนินต่อได้ การป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตในภาคการเงิน และการสนับสนุนโลจิสติกส์

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ